xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยะ” มั่นใจไม่มีตำรวจร่วมม็อบล้มช้าง เตรียมกำลังรับมือ-แนะเลี่ยงราชประสงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษก บช.น.เตือนกรุงเทพฯ ยังมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ควบคุมโรค ชุมนุมเย็นนี้เสี่ยงแพร่โควิด-19 มีความผิดทันที ชี้การแก้ไขบ้านเมืองมีกระบวนการที่ถูกต้องบิ๊กอู๊ด” มอบหมายผู้การ 5 และผู้การ 6 คุมเหตุการณ์เอง จัดกำลัง คฝ.ตามความเหมาะสม แนะเลี่ยงถนนราชดำริ พระราม 1 เพลินจิต ตั้งแต่บ่าย 3 โมง

วันนี้ (23 ก.พ.) เวลา 11.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงข่าวเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในการรวมตัวจัดกิจกรรมของม็อบตำรวจล้มช้าง ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เวลา 17.00 น.

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า วันนี้จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี, กลุ่มราษฎร และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เตือนกลุ่มผู้ชุมนุมแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมาตรการคลี่คลายสถานการณ์ในบางประการเพื่อให้ประชาชนได้ทำมาหากิน มีช่องว่าง และบรรเทาความเดือดร้อนในระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้กรุงเทพฯ ยังมีประกาศห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ฉะนั้น การชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะมีความผิดตามประกาศดังกล่าว

สำหรับการชุมนุมอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องระหว่าง บก.น.5 และ บก.น.6 พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 และ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ของตัวเอง พร้อมจัดเตรียมกองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) โดยพิจารณาจัดกำลังตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องความรุนแรงจากการชุมนุมที่ผ่านมา ทั้งที่สถานทูตเมียนมา สามย่านมิตรทาวน์ และศาลฎีกา จะเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันเอง รวมถึงกลุ่มอาชีวะที่อาสามาเป็นการ์ด การที่แกนนำไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงขอเตือนประชาชน หรือผู้ที่สัญจรไปมา ให้พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณชุมนุมเนื่องจากอาจได้รับอันตราย จากการข่าวคาดว่าหากกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนมากอาจเคลื่อนตัวไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

การชุมนุม หรือการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง มีกลไก มีวิธีการต่างๆ ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยในหลายๆ อย่าง กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้มาตรการต่างๆ ผ่านตัวแทนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาในระดับหนึ่งแล้ว สัปดาห์หน้าจะมีอีกกระบวนการหนึ่งที่ผ่านรัฐสภา คือ กระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นระบบ เป็นระเบียบ เป็นขั้นตอนในการแก้ไขในบ้านเมืองของเราอย่างแท้จริง จึงอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชน ใช้กระบวนการที่ถูกต้องทางกฎหมายดีกว่า

“สิทธิในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ตำรวจสามารถชุมนุมได้ แต่ผมมั่นใจว่าตำรวจทุกนายมีความเข้าใจ มีระเบียบวินัย และคงจะไม่มีตำรวจนายไหนเข้าร่วมชุมนุมโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจในนครบาล หรือตำรวจจากต่างจังหวัด หากพบว่ามีตำรวจร่วมชุมนุมแล้วกระทำผิดกฎหมาย ก็ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย” น.2 กล่าว

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อว่า กรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่สามย่านมิตรทาวน์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 ราย เข้าพบในวันที่ 18 ก.พ. รับทราบข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ต่อมาได้มีหนังสือขอเลื่อนเข้าพบในวันนี้แทน พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี

กรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่สถานทูตเมียนมา พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้ออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องอีก 12 ราย เข้าพบในวันที่ 19 ก.พ. ในจำนวน 11 ราย รับทราบข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมโรค, มาตรา 215 สมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และมาตรา 215 วรรค 2 การชุมนุมนั้นมีผู้ที่มีอาวุธเข้ามาร่วมในการชุมนุม พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี ส่วนอีก 1 ราย ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำได้เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว

และกรณีเมื่อวันที่ 13 ก.พ. เกิดเหตุยิงกันที่หน้าร้านสะดวกซื้อ สาขาสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จากนั้นได้มีการยิงกันอีก 1 ครั้ง ที่ท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ อยู่ด้านหลังร้านสะดวกซื้อดังกล่าว พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว ต่อมาได้ขอศาลออกหมายจับที่ 78/2564 สามารถจับกุมผู้ต้องหาในข้อหา พยายามฆ่าผู้อื่น, พกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ก่อนนำตัวสอบสวนและฝากขังศาลอาญา

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวถึงการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรว่า เส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ถนนราชดำริ (แยกราชดำริ-แยกประตูน้ำ), ถนนพระราม 1 (แยกเฉลิมเผ่า-แยกราชประสงค์), ถนนเพลินจิต (แยกราชประสงค์-แยกชิดลม) โดยให้หลีกเลี่ยงตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าเสร็จสิ้นการชุมนุม เส้นทางที่แนะนำใช้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ ได้แก่ ถนนราชปรารภ, ถนนสีลม, ถนนเพชรบุรี, ถนนสาทร, ถนนพญาไท, ถนนวิทยุ, ถนนพระราม 4, ถนนสุขุมวิท, ถนนอังรีดูนังต์, ถนนสารสิน, ถนนหลังสวน, ซอยต้นสน

ทั้งนี้ บช.น.ได้จัดเตรียมกำลังตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากต้องการสอบถามข้อมูลเส้นทาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) โทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางแอปพลิเคชัน M-Help Me และทางเว็บไซต์ WWW.TRAFFICPOLICE.GO.TH.


กำลังโหลดความคิดเห็น