กรมทหารราบที่ 112 ย้ายบ้านใหม่จากฉะเชิงเทรา สู่อำเภอเกาะจันทร์ ชลบุรี บนพื้นที่ค่ายพนัสบดีศรีอุทัย เริ่มทำงานวันแรก 1 มีนาคมนี้ ผันตัวจากหน่วยกำลังสำรอง กลายเป็น “กรมยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์” แท้ๆ ตามนโยบายสมัย “บิ๊กแดง” เป็น ผบ.ทบ.
รายงาน
1 มีนาคม 2564 จะเป็นวันแรกที่ กรมทหารราบที่ 112 กองพลทหารราบที่ 11เริ่มปฏิบัติงานใน “บ้านหลังใหม่”ในพื้นที่ค่ายพนัสบดีศรีอุทัย กองบัญชาการช่วยรบที่ 1ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี ซึ่งถือว่าเป็นที่ตั้งปกติถาวร
โดยได้ทำพิธีอำลาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายใน ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า กองพลทหารราบที่ 11สี่แยกคอมเพล็กซ์ ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมืองฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนจะทำการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปประจำหน่วย ธงชัยเฉลิมพล กำลังพลและยุทโธปกรณ์ไปยังที่ตั้งใหม่
โดยซุ้มประตูทางเข้าก่อสร้างใหม่เอี่ยม อยู่บริเวณถนนเกาะโพธิ์-เกาะจันทร์ เยื้องโรงพยาบาลเกาะจันทร์ ซุ้มด้านในระบุข้อความว่า “Home of Strykers”และด้านหลังระบุว่า “One Team One Fight Strykers”บ่งบอกว่าที่นี่คือ “กรมยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์”แท้ๆ
การจัดตั้งกรมยานเกราะสไตรเกอร์แห่งนี้ สืบเนื่องมาจากผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนก่อนหน้านี้ คือ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง) ได้มีนโยบายจัดตั้งหน่วยสนับสนุนการรบหน่วยใหม่ ในลักษณะ “กรมยานเกราะล้อยาง” จำนวน 1 หน่วย
โดยสั่งซื้อยานเกราะล้อยางยี่ห้อ สไตรเกอร์ (Strykers) พร้อมระบบอาวุธและการบริการทางเทคนิค จากประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางการทหาร (FMS)
นับเป็นประเทศแรกที่สหรัฐฯ ขายยานเกราะสไตรเกอร์ไปด้วย ให้ความช่วยเหลือทางทหารไปด้วย
การจัดซื้อครั้งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการไปตามแผน แต่ปรากฏว่า เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กองทัพบกจึงตัดงบประมาณปี 2563 โยกไปอยู่ปีงบประมาณ 2564-2565
แต่ยกเลิกไม่ได้เพราะเป็นโครงการต่อเนื่อง และสหรัฐอเมริกานำเข้าสภาคองเกรสเรียบร้อยแล้ว แม้จะมีเสียงคัดค้านจากนักการเมืองบางกลุ่มก็ตาม
ตามแผนจะจัดหายานเกราะสไตรเกอร์ ที่จัดซื้อโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน 47 คัน และได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพสหรัฐอเมริกาอีก 23 คัน รวมทั้งหมด 70 คัน
โดยล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม 2563 เพิ่งมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง 14 คัน เข้าสู่กระบวนการตรวจรับ ที่กองพันสรรพาวุธซ่อมบำรุงเขตหลัง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองฯ จังหวัดสระบุรี
ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหม ได้ยกฐานะกองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า จาก “กองพลสำรอง”เป็น “กองพลทหารราบเบา”เพื่อให้กองทัพบก มีหน่วยกำลังรบที่เหมาะสม เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
โดยใช้ อจย.7-31 (อัตราการจัด และยุทโธปกรณ์ 7-31) ประกอบด้วย กองบังคับการ และกองร้อยกองบังคับการ (บก. และ ร้อย.บก.), 1 กองร้อยเครื่องบินหนัก (ร้อย.ค.หนัก) และ 1 กองพันทหารราบเบา (พัน.ร.เบา)
ก่อนหน้านี้ กองพลทหารราบที่ 11 เปรียบเสมือนหน่วยกำลังสำรอง ไม่มีบทบาทมากนัก เทียบกับ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ค่ายพรหมโยธีจังหวัดปราจีนบุรี ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นหน่วย “บูรพาพยัคฆ์” และมี “3 ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยเป็นผู้บังคับบัญชามาก่อน
แต่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ “บิ๊กแดง” ก่อนหน้านี้ เป็นผู้บังคับบัญชา ที่กองพลทหารราบที่ 11 เมืองแปดริ้ว มานานประมาณปีเศษ
เมื่อบิ๊กแดงก้าวมาเป็น ผบ.ทบ. วันที่ 21 มิถุนายน 2562 ได้ลงนามอนุมัติแผนเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 11 โดยให้มีการจัดหน่วยแบบกะทัดรัด ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้เป็นหน่วยต้นแบบของกองทัพบก โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับการจัดหน่วยแบบกองพลน้อยของสหรัฐฯ และออสเตรเลีย นำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับกองทัพบก
จึงอนุมัติให้ กรมทหารราบที่ 112 ปรับโครงสร้างการจัดหน่วยเป็น “กรมทหารราบยานเกราะเบา” เพื่อรองรับการบรรจุยานเกราะแบบสไตรเกอร์ ที่กองทัพบกกำลังจัดหาและแจกจ่ายให้กับหน่วยในอนาคต
อีกทั้ง “บิ๊กแดง” ยังอนุมัติให้ออกคำสั่งจัดตั้ง “กองพันทหารราบยานเกราะ” ให้กับกรมทหารราบที่ 112 เพิ่มเติมอีก 2 กองพัน และให้ปรับเปลี่ยนที่ตั้งปกติถาวรไปยังค่ายพนัสบดีศรีอุทัย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
มาถึงพื้นที่นับพันไร่ของกองบัญชาการช่วยรบที่ 1 ค่ายพนัสบดีศรีอุทัยแห่งนี้ เดิมเป็นพื้นที่สาธารณะในตำบลท่าบุญมี อำเภอพนัสนิคม ใช้เลี้ยงสัตว์ มีพื้นที่กว้างขวาง
โดยพบว่ากองทัพบกเลือกพื้นที่แห่งนี้ เป็นที่ตั้งปกติถาวร ให้กองบัญชาการช่วยรบที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2529 ก่อนที่กระทรวงมหาดไทยจะแบ่งพื้นที่การปกครอง แยกมาเป็น “อำเภอเกาะจันทร์” เมื่อปี 2540 เป็นต้นมา
แม้จะอยู่ห่างจากตัวเมืองชลบุรีเกือบ 60 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอพนัสนิคม 20 กิโลเมตร แต่ก็อยู่ใกล้ถนนสาย 331 พนมสารคาม-สัตหีบ หรือ “ถนนสายยุทธศาสตร์” ระยะทาง 157 กิโลเมตร
เคยเป็นเส้นทางกองทัพสหรัฐฯ ขนอาวุธยุทโธปกรณ์จากท่าเรือจุกเสม็ด และสนามบินอู่ตะเภา ไปยังฐานทัพอเมริกันจังหวัดนครราชสีมา ในสมัยสงครามอินโดจีน
ปัจจุบันถนนสาย 331 พนมสารคาม-สัตหีบ เปลี่ยนโฉมจากเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการทหาร กลายมาเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะเต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนเป็นระยะ
สำหรับพลทหาร การเดินทางจากตัวเมืองชลบุรีถึงกรมทหารราบที่ 112 แห่งใหม่ ไม่ลำบาก เพราะด้านหน้าเป็นถนนสี่เลนแบบสวนทาง ปูพื้นคอนกรีตอย่างดี มีรถประจำทาง สาย 1633 ชลบุรี-พนัสนิคม-เกาะโพธิ์-ปรกฟ้าซึ่งเป็นรถพัดลมวิ่งผ่านเป็นประจำ แถมยังมี “รถตู้เกาะโพธิ์”จากสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ ไปยังตัวอำเภอเกาะจันทร์โดยตรง
ในตัวอำเภอเกาะจันทร์ มีร้านสะดวกซื้อชื่อดังถึง 2 แห่ง อยู่ที่บริเวณวัดเกาะจันทร์ ห่างจากกรมทหารราบที่ 112 เพียงแค่ 1.5 กิโลเมตร ใกล้ที่ว่าการอำเภอเกาะจันทร์ เทศบาลตำบลเกาะจันทร์ เพียงแต่ว่าถ้าจะไปซื้อของห้างสรรพสินค้า ต้องขับรถไปไกลอยู่บ้าง
นับจากนี้ เราอาจจะได้เห็นกรมทหารราบที่ 112 หรือ “กรมยานเกราะสไตรเกอร์” ในวันนี้ จะรับภารกิจจากหน่วยเหนืออย่างเต็มขีดความสามารถ เพื่อเป็นกำลังรบหลักของกองทัพบกต่อไป
(ขอบคุณภาพ : กรมทหารราบที่ 112)