xs
xsm
sm
md
lg

คนรักช้างทนไม่ได้! พบคลิปช้างลากซุงสุดทรมาน ผู้ประกาศข่าวดังประสานช่วยเหลือแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบคลิปช้างเชือกหนึ่งกำลังลากท่อนซุกอย่างยากลำบาก ทำคนรักช้างทนไม่ไหวหาทางช่วยเหลือ ชี้หมดยุคใช้แรงงานช้างเช่นนี้แล้ว ด้านผู้ประกาศข่าวหญิงชื่อดังได้ออกมาเผยว่ากำลังประสานงานช่วยเหลือช้างน้อยเชือกนี้อยู่

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “เฟิร์น ซี๊ดส์” ได้โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 15 วินาที ลงในกลุ่ม “คนรักช้างและวิถีชีวิตช้างไทย” เผยให้เห็นเหตุการณ์สุดสะเทือนใจเมื่อเห็นภาพของช้างตัวหนึ่งกำลังลากท่อนซุงขึ้นทางลาดชันอย่างทรมาน จึงอยากจะวอนเพื่อนในโลกโซเชียลฯ หาทางช่วยช้างตัวนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันน่าจะหมดยุคของการใช้แรงงานช้างเช่นนี้แล้ว ทั้งนี้ ผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า

“ขออนุญาตแอดมินนะคะ จะต้องติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหนได้บ้างคะ สะเทือนใจคนรักช้างอย่างมาก เมื่อคืนเล่น Tik tok เลื่อนไปเจอคลิปคลิปนึงเขาใช้ช้างลากซุงไม้ขนาดใหญ่บนทางที่ชันมากๆ จนน้องช้างขึ้นไม่ไหวแล้ว เฟิร์นคิดว่าตอนนี้เราน่าจะหมดยุคช้างลากซุงแล้วใช้รถแทนแล้วนะคะ ทำไมยังมีการใช้แรงงานช้างอย่างทารุณ สะเทือนใจคนรักช้างเหลือเกิน อยากให้ทุกคนเป็นกระบอกเสียงในการนำเขามาลงโทษ ที่อยู่ของเขา เขาอยู่ ม.8 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ค่ะ”

อย่างไรก็ตาม น.ส.นารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กของตนเอง “นารากร ติยายน” เผยว่า ตนเองได้ประสานไปยังคุณกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เข้าช่วยเหลือช้างเชือกนี้

คุณกัญจนา ศิลปอาชา ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่ให้การช่วยเหลือช้างมาโดยตลอด จึงได้ประสานไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส เพื่อขอความช่วยเหลือและหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ วันนี้ (18 ก.พ. 2564) เมื่อได้รับทราบข้อกังวลของกลุ่มคนรักช้าง เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอระแงะ จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ได้ข้อเท็จจริง ดังนี้

“ช้างที่นำมาลากซุง เป็นช้างจากต่างพื้นที่เข้ามาให้บริการลากไม้ซุง ซึ่ง จนท.กำลังรอประสานเจ้าของช้างเชือกนี้ เพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติในการใช้ช้างลากซุง ที่ไม่เข้าข่ายการทารุณกรรมช้าง”

และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส จะดำเนินการสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งสอบถามรูปแบบวิธีการเลี้ยง และใช้งานช้าง เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านในการใช้งานช้างลากซุงให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาช้างตกเขา จนได้รับบาดเจ็บหรือล้มตาย ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

กำลังโหลดความคิดเห็น