xs
xsm
sm
md
lg

MEA เดินหน้าส่งมอบเสาไฟจากทุกโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน สร้างแนวป้องกันคลื่นชายฝั่งป้อมพระจุลฯ ฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเลอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (17 ก.พ.) นายจุมภฎ หิมะเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยความคืบหน้าการปักเสาไฟฟ้าในทะเลเพื่อเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ว่า ตามที่ MEA ได้ร่วมมือกับฐานทัพเรือกรุงเทพ กองทัพเรือ ในโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และการทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง MEA’s Model อย่างต่อเนื่อง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ ด้วยการนำเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในโครงการต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้ว รวมถึงเสาไฟฟ้าที่ชำรุด และยางรถยนต์เก่า นำมาทำเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดักตะกอน เป็นระยะทางกว่า 1,700 เมตร พร้อมทั้งดำเนินการปักเสาฯ เพิ่มอีก 2 จุด ฝั่งเหนือ-ฝั่งใต้ จุดละ 250 เมตร รวมระยะทางกว่า 2,200 เมตร เพื่อปิดหัว-ท้ายของแนวปักเสาฯ เดิมนั้น ล่าสุด ได้ดำเนินการปักเสาฯ ฝั่งเหนือเสร็จเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการปักเสาฯ ฝั่งใต้ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

MEA ยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่รับผิดชอบ และพร้อมส่งมอบเสาไฟฟ้าในทุกโครงการเพื่อนำมาใช้กันคลื่นกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน เป็นระยะทางประมาณ 4.7 กิโลเมตร ต่อไป นอกจากนี้ MEA ยังได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อดำเนินการปักเสาใช้เป็นแนวป้องกันคลื่นทะเล รวมถึงสนับสนุนงบประมาณปลูกป่าชายเลนและบำรุงรักษาป่าชายเลนเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้แก่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี (จากการลงนามความร่วมมือระหว่าง MEA และฐานทัพเรือกรุงเทพ 4 ครั้ง ในช่วงปี พ.ศ. 2547-2551 พ.ศ. 2552-2554 พ.ศ. 2555-2557 และ พ.ศ. 2561-2565) จำนวนเงิน 6,800,000 บาท รวมจำนวนเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 7,800,000 บาท อีกทั้งยังดำเนินการปรับปรุงอาคารนิทรรศการเปิดโลกป่าชายเลนและภูมิทัศน์โดยรอบให้มีสภาพสวยงาม เพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป

สำหรับคุณสมบัติเด่นของเสาไฟฟ้านั้น เนื่องจากเสามีลักษณะเป็นแท่งคอนกรีตที่มีความแข็งแรง อายุการใช้งานนานประมาณ 30 ปี ซึ่งมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าเสาไม้ทั่วไปกว่า 30 เท่า อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นจากโครงสร้างลวดเหล็กภายในเสาไฟฟ้า ทำให้สามารถรับแรงดัดได้มากถึง 4.5 ตันเมตร หรือหักโค้งได้ประมาณ 7-8 เซนติเมตร ทำให้มีความแข็งแรงทนทานสามารถรองรับความรุนแรงของคลื่นทะเลที่มากระทบได้มากขึ้น และจากความร่วมมือระหว่าง MEA และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว พบว่า แนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยเสาไฟฟ้าสวมด้วยยางรถยนต์ ช่วยลดความแรงของกระแสน้ำ ทำให้มีปริมาณการสะสมของตะกอนหลังเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ต้นกล้าและลูกไม้ ประเภทไม้โกงกาง รวมถึงพรรณไม้น้ำต่างๆ ที่อยู่หลังแนวป้องกันมีปริมาณหนาแน่นขึ้น รวมถึงมีการกลับมาของสัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกนานาชนิด มีแนวโน้มการอยู่รอดเพิ่มขึ้น ส่วนยางรถยนต์ที่สวมอยู่กับเสาไฟฟ้าจากผลการศึกษาไม่พบการสลายตัวที่เป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม หรือส่งผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตและป่าชายเลนแต่อย่างใด ซึ่งจากผลสำเร็จการนำเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนและไม่ใช้งานแล้วจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในโครงการต่างๆ มาปักเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ตามแนวทาง MEA’s Model นั้น ทำให้ MEA เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคหน่วยงานเดียวของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล Asia Responsible Entrepreneurship Awards 2018 ในสาขา Green Leadership ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของ MEA ได้เป็นอย่างดี


















กำลังโหลดความคิดเห็น