“ธีระชัย” คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ แบ่งเป็น 3 ขั้น เงินเฟ้อ-เงินฝืด ชั่วคราว จากนั้นเข้าสู่ภาวะชะงักงันระยะยาว เตือนไทยรับมือโควิดอย่าเน้นแต่แจกเงิน แนะทุ่มให้ชุมชนนำจุดเด่นออกมาเป็นจุดขาย
วันที่ 15 ก.พ. 2564 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “จับสัญญาณเสี่ยง ศก.และตลาดหุ้นสหรัฐฯ”
นายธีระชัย กล่าวว่า คิดว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเสี่ยง เพราะวิกฤตโควิดของสหรัฐฯ คนที่ปรับตัวยากสุด คือ คนชั้นล่าง ธุรกิจปิดตัวไปเยอะ ต่อให้อัดฉีดด้านการคลัง แจกเงินให้ประชาชนมากแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้ร้านที่ปิดไปแล้วกลับคืนมาได้โดยเร็ว ซึ่งต่างจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ปิดไป เป็นบริษัทขนาดใหญ่ รัฐเข้าไปช่วยเพิ่มทุน เหมือนเป็นเป้าใหญ่เอาเงินเข้าไปง่าย แต่วิกฤตโควิดเป็นระดับ SMEs จะช่วยได้ครบเป็นไปไม่ได้ แบงก์ก็ทิ้ง เพราะไม่สามารถอุ้มชูธุรกิจขนาดเล็กได้ ตอนนี้คนที่ตกงาน อยู่ได้โดยรัฐบาลเลี้ยง มองไม่ออกเลยจะเข้าไปช่วย SMEs ให้กลับมาได้อย่างไร
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตนแบ่งออกเป็น 3 ฉาก Inflation (เงินเฟ้อ), Deflation (เงินฝืด) และ Stagflation (เศรษฐกิจชะงักงัน) คาดว่า เงินเฟ้อจะวิ่ง แต่ชั่วคราว จากการใช้จ่ายเงินที่มากเกินไป ตอนนี้ใช้มากกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ถึง 3 เท่า ทั้งที่ยังไม่จบโควิดด้วยซ้ำ
แต่ปฏิกิริยาของตลาดทำให้ความไม่มั่นใจเกิดขึ้น อาจเกิดเงินฝืด ราคาทรัพย์สินอยู่ดีๆ ก็รูดลงมาเลย แต่คงเป็นแค่ช่วงสั้นๆ หลังจากนั้น ตลาดทรุดหนัก ก็คงต้องออกนโยบายการคลัง การเงิน มาอีก เพราะไม่มีทางเลือก ฉะนั้น ระยะยาวตั้งแต่ปลายปีเป็นต้นไป มีโอกาสเป็น Stagflation
นายธีระชัย กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยปัญหาเศรษฐกิจอาจน้อยกว่าสหรัฐฯ เพราะหนี้เราไม่รุนแรงเท่า แต่เราอาศัยท่องเที่ยวสูงมาก เวลานี้นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ท่องเที่ยว กำลังเคลียร์ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าจะให้ดี แบงก์ต้องยอมตัดเนื้อตัวเอง เพื่อเคลียร์หนี้ เวลานี้ตนมองว่า ท่องเที่ยวจะไม่กลับมาเร็ว การเดินทางติดต่อธุรกิจก็ไม่กลับมาเร็ว ทีนี้เมืองไทยมีปัญหาขึ้นมาอีกชั้น ในเรื่องก่อสร้าง เรื่องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ย้อนไป 6-7 ปี เป็นช่วงที่เงินไหลเข้าเยอะมากทำให้บาทแข็ง เข้ามาลงทุนตราสารหนี้ที่เป็นเงินบาท แต่เราไม่มีมาตรการที่จะกันหรือเก็บภาษีสำหรับคนที่จะเอาเงินนั้นไปใช้ กลุ่มที่เอาเงินพวกนี้ออกไปใช้ได้เต็มที่ด้วยการออกหุ้นกู้ นั่นคือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มนี้เลยมีกิจกรรมที่บูม เพราะนี่เป็นเงินระยะยาว แล้วเป็นเงินที่ไม่ได้พึ่งแบงก์ มีการสร้างอสังหาฯ เกินที่ตลาดต้องการ
นายธีระชัย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลรับมือโควิดด้วยการแจกเงิน เราเข้าใจเวลาคนเดือดร้อนก็ต้องช่วยระดับหนึ่ง แบบพอดีก็พอได้ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจชะลอ แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาอยู่ ถ้าแจกมากไป ขยายจำนวนเยอะเกินไป แล้วค่อนไปทางหาเสียงทางการเมืองหรือเปล่า แล้วถ้าเป็นการเอาภาษีคนรวยไปแจกคนจน เป็นการถ่ายเท แบบนี้ไม่เป็นอะไร แต่นี่เป็นเงินกู้
ฉะนั้น กู้มาแจกแบบนี้เป็นภาระที่เราต้องใช้หนี้ทีหลัง ไม่เฉพาะเรา แต่ไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน หลายประเทศต้องนึกถึงวิถีทางทำมาหากินของประเทศนั้นๆ มองไปอนาคตว่าจะทำอย่างไร อาจไม่เหมือนเดิม อย่างเราพึ่งการท่องเที่ยวสไตล์เดิมอาจไม่คุ้ม อาจต้องเปลี่ยนเป็นเน้นคนเที่ยวน้อยแต่เอาแพงไปเลยดีไหม ที่ตนนึกได้ขณะนี้ ต้องกระตุ้นชุมชน ให้ชุมชนถามตัวเองว่าหลังโควิดเขามีจุดแข่งขันอะไร จุดแหลมคมกว่าคนอื่น จะเอาอะไรเป็นตัวหลัก แล้วอยากให้รัฐบาลช่วยอะไร การฟื้นฟูอย่าไปทำแบบที่รัฐบาลทำ ทุ่มเงินซื้อโน่นนี่เพื่อเอาเงินทอน ต้องตัดทิ้งไปเลย เอาภาครัฐไปกระตุ้นชุมชน แต่ให้เขาคิดเอง วางแผนเอง