xs
xsm
sm
md
lg

"หญิงหน่อย" แนะรัฐบาลแก้กฎหมายเพื่อคนชรา ปมรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" แนะรัฐบาลแก้ปัญหาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อน ให้กระทรวงมหาดไทยแก้กฎหมายยกเลิกระเบียบบางข้อ ออกคำสั่งให้ท้องถิ่นไม่ต้องดำเนินคดีกับผู้สูงอายุ หรือให้อัยการไม่ควรรับดำเนินคดี

วันนี้ (3 ก.พ.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำกลุ่มสร้างไทย อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan" ระบุว่า ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11(11) บัญญัติให้ผู้สูงอายุ ได้แก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิได้รับ “การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” ซึ่งการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวมาตรา 12 ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า “ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับตามกฎหมายอื่น”

ในการจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุ กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ข้อ 6 (4) ว่า จะต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากรัฐ เช่น ผู้รับบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ระเบียบดังกล่าวได้สร้างปัญหาให้กับผู้สูงอายุจำนวนมากที่จะถูกเรียกเงินคืนเพราะเป็นผู้ได้รับบำนาญ เช่น กรณีคุณยายที่ลูกชายเสียชีวิตจากคลังแสงระเบิด เป็นต้น

แต่กรณีการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณยายเพียงคนเดียว เพราะมีข้อมูลว่าจะมีผู้สูงอายุทั่วประเทศที่ต้องถูกเรียกคืนเช่นนี้ ประมาณ 15,000 คน ที่จะได้รับความเดือดร้อน แม้ล่าสุด นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชะลอการเรียกคืนหรือฟ้องร้องเอาไว้ก่อนแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า จะมีทางออกให้คนชราทั่วประเทศได้อย่างไร ? โดยวิธีการไหน ? เมื่อใด ? หลายครอบครัวทุกข์หนัก ไม่มีเงินใช้หนี้ย้อนหลัง!!

ขอเรียนว่า ความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลยหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความกล้าหาญที่จะทำหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากระเบียบของกระทรวงมหาดไทยมิได้มีฐานะเป็นกฎหมายจึงไม่อาจขัดหรือแย้งกับมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติผู้สูงอายุที่ไม่ตัดสิทธิผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายอื่น ดังนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยจึงไม่อาจใช้บังคับได้ ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพไปแล้วจึงไม่ต้องคืนเงินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่ากรณีใด

ทางออกของเรื่องนี้ทำได้สองทางคือ (1) กระทรวงมหาดไทยยกเลิกระเบียบข้อ 6 (4) ที่ขัดกับกฎหมาย หรือ ออกคำสั่งแจ้งไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นไม่ต้องดำเนินคดีกับผู้สูงอายุ

หรือ (2) อาศัยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 25 การแจ้งฐานะคดีและการไม่รับว่าต่าง ที่ให้อำนาจพนักงานอัยการเสนอความเห็นไปยังตัวความคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าไม่ควรรับดำเนินคดี

ปัญหาทั้งหมดแก้ไขได้ไม่ยากหากหัวหน้ารัฐบาลตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกมาขัดต่อกฎหมายจึงสามารถยกเลิกได้ทันที นั่นคืออุปสรรคสำคัญที่ #กลุ่มสร้างไทย มองว่าการบริหารแบบรัฐราชการเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น