ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชเรียกถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแนวทางช่วยผู้เฒ่าโคราชถูกเรียกคืนเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 610 ราย รวมถูกเรียกเงินคืนกว่า 26 ล้าน ยังไร้ทางออก ร่อนหนังสือถามเจ้ากระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน แย้มให้รอฟังข่าวดีทางรัฐจะหาทางออกดีที่สุดให้ทุกฝ่าย
วันนี้ (1 ก.พ.) ความคืบหน้ากรณีมีผู้สูงอายุหลายรายในพื้นที่ตำบลจอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถูกเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุย้อนหลังนับ 10 ปี เป็นเงินเฉลี่ยรายละ 70,000-100,000 บาท เพราะขาดคุณสมบัติซ้ำซ้อนกับที่ได้รับเงินเบี้ยบำนาญพิเศษอยู่แล้ว บางรายไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนได้ ถูกทางเทศบาลตำบลจอหอส่งเรื่องฟ้องศาลแขวงนครราชสีมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และจากการสำรวจข้อมูลทั้ง 32 อำเภอของ จ.นครราชสีมา พบว่ามีผู้สูงอายุถูกเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในลักษณะเดียวกันจำนวนมากรวม 601 ราย ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาและหลายภาคส่วนพยายามหาแนวทางช่วยเหลือผู้สูงอายุและครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวนั้น
ล่าสุดวันนี้ ที่ห้องประชุมสำนักงานคลังจังหวัด ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นางสาวศศินันท์ สันนิธิดาวัณย์ อัยการจังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมร่วมกับท้องถิ่นจังหวัด ยุติธรรมจังหวัด คลังจังหวัด เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้สูงอายุทั้ง จ.นครราชสีมา ที่มีจำนวน 610 ราย ที่ถูกเรียกเงินเบี้ยผู้สูงอายุคืน ในจำนวนนี้มีรายของ นางชูศรี พูนชัย อายุ 83 ปี ผู้ป่วยติดเตียง อยู่บ้านเลขที่ 228 หมู่ที่ 4 ต.บัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ ที่ได้รับความสนใจมาก เนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเตียงมีโรคประจำตัวหลายโรค ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยทางอำเภอบัวใหญ่ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการสำรวจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบจำนวนผู้สูงอายุที่แจ้งในระบบสารสนเทศที่ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐซ้ำซ้อนกับเบี้ยผู้สูงอายุจำนวน 610 ราย โดยมีจำนวนเงินที่รับเกินสิทธิ์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 26,952,154,.86 บาท สถานการณ์เรียกคืนเงินเบี้ยผู้สูงอายุจากผู้ไม่มีสิทธิดำเนินการแล้วจำนวน 195 ราย เป็นเงิน 7,802,898.86 บาท อยู่ระหว่างการดำเนินการ 285 ราย เป็นเงิน 15,026,896 บาท ยังไม่ดำเนินการ 89 ราย เป็นเงิน 3.792,300 บาท ไม่เบิกจ่าย 41 ราย รวม 610 ราย
สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ จะต้องแบ่งออกเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหาเงินมาคืนได้ตามระเบียบ ซึ่งต้องมาดูรายละเอียดว่าสาเหตุที่ไม่สามารถนำเงินมาคืนได้มาจากสาเหตุใด เช่น เป็นผู้สูงอายุ อยู่ตัวคนเดียว ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จะต้องหาวิธีช่วยเหลือ เช่นการผ่อนชำระหรือไม่ ซึ่งจะต้องหารือกับหน่วยงานด้านกฎหมายและศึกษาถึงกฎระเบียบให้ชัดเจน หากมีการศึกษาข้อกฎหมายแล้วมีแนวทางที่สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุทั้งหมดได้ ทางจังหวัดก็จะให้คำแนะนำและช่วยเหลือทันที
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุทั้งหมดถือว่าน่าสงสารและรับเงินไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งการหารือทั้งหมดจะเสนอแนวทางการช่วยเหลือไปทางกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ทางจังหวัดหาข้อมูลและเสนอแนวทางที่พอจะเป็นไปได้ไปให้ทางกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรรอฟังข่าวดี ทางภาครัฐไม่นิ่งนอนใจและจะหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ทุกฝ่าย
นายวิเชียรกล่าวว่า ในส่วนรายนางชูศรี พูนชัย อายุ 83 ปี ผู้ป่วยติดเตียง อยู่บ้านเลขที่ 228 หมู่ที่ 4 ต.บัวใหญ่ การให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นมีการมอบรถวีลแชร์ 1 คัน เครื่องอุปโภค บริโภค 1 ชุด ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 2 ชุด และผ้าห่มนวม 1 ผืน รวมทั้งศูนย์สุขภาพชุมชนมีการประสานโรงพยาบาลบัวใหญ่เพื่อสนับสนุนเตียงนอน และประสานทีมติดตามเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงโดยให้ออกไปตรวจเยี่ยมนางพูนศรีทุกสัปดาห์ และประสานโรงพยาบาลบัวใหญ่อำนวยความสะดวกในการจัดรถรับส่งเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลบัวใหญ่
ด้าน นางสาววันเพ็ญ อำพาส คลังจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 นางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้ชี้แจงถึงกรณีมีคนชรารับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญซ้ำซ้อนกันกว่า 15,000 คนทั่วประเทศ โดยจังหวัดนครราชสีมามีจำนวน 610 คน ว่า กรมบัญชีกลางไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อน โดยเรื่องดังกล่าวมาจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ส่งข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลักมาให้กรมบัญชีกลาง ซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบจ่ายเงินกลางให้รัฐบาลช่วยตรวจสอบว่าข้อมูลบุคคลเหล่านั้นมีการรับเงินบำนาญ หรือบำนาญพิเศษหรือไม่ ซึ่งเมื่อกรมฯ ตรวจเสร็จก็ได้ส่งกลับไปให้กรมส่งเสริมการปกครองฯ ตามจำนวนใกล้เคียงกับที่เป็นข่าว
ส่วนจะมีการรับเบี้ยคนชราซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญ หรือบำนาญพิเศษหรือไม่นั้น เป็นขั้นตอนที่กรมส่งเสริมการปกครองฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากกรมบัญชีกลางไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยคนชราเองว่า มีการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ซ้ำซ้อนตั้งแต่เมื่อไร และมีจำนวนเงินซ้ำซ้อนกี่บาท ที่สำคัญ การขอเรียกเบี้ยคนชราคืนเป็นอำนาจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ไม่ใช่อำนาจของกรมบัญชีกลาง เพราะกรมบัญชีกลางทำหน้าที่ตัวกลางในการสั่งจ่ายเงินตามรายชื่อและงบประมาณที่กรมส่งเสริมการปกครองฯ แจ้งมาให้เท่านั้น
นางสาววันเพ็ญ อำพาส คลังจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต่อว่า ขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมกรณีการตรวจสอบข้อมูลการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยกรมบัญชีกลางจัดทำระบบ e-Social Welfare ซึ่งในระบบจะมีถังตรวจสอบข้อมูล โดย อปท.จะทำการตรวจสอบเลขบัตรประชาชนของผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่าซ้ำซ้อนกับผู้รับบำนาญหรือไม่ กรณีถ้าพบว่าข้อมูลซ้ำซ้อน อปท.จะหยุดการจ่าย และสำหรับการเรียกคืนเงินนั้นเป็นหน้าที่ของ อปท.ที่จ่ายเงินไปเพราะผู้สูงอายุรายดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบฯ