เพจ “ฟาฮัดเป็นนักกำหนดอาหาร” โพสต์ยืนยันการกินเนื้อไก่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์ แต่อาหารที่มีความเสี่ยง คือ เครื่องในสัตว์, น้ำอัดลม ฯลฯ สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์ส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการผิดปกติในร่างกาย
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. เพจ “ฟาฮัดเป็นนักกำหนดอาหาร” โพสต์ข้อความยืนยันกรณีการกินเนื้อไก่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์ แต่อาหารที่มีความเสี่ยง คือ เครื่องในสัตว์, น้ำอัดลม ฯลฯ โดยระบุข้อความว่า “โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หลายคนเข้าใจว่าคนที่เป็นเกาต์ต้องเป็นคนที่กินไก่มาเยอะจัดๆ แน่ๆ ที่จริงแล้วสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์ส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการผิดปกติในร่างกายต่างหาก
โรคเกาต์มีต้นต่อมาจากการที่ “พิวรีน” ที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายสลายตัวต่ออีกทีได้ “กรดยูริก” (จะเรียกว่ายูเรทก็ได้นะ) ซึ่งปกติกรดยูริกนี้ 2 ใน 3 จะถูกขับออกทางไต และ 1 ใน 3 ถูกสลายด้วยแบคทีเรียในลําไส้ นั่นแสดงว่าถ้าไตของเราไม่มีปัญหาร่างกายก็จะสามารถขับกรดยูริกได้ตามปกติ จึงไม่มีการสะสมบริเวณไขข้อ แต่ถ้าคนไหนที่มีภาวะไตเสื่อมหรือได้รับผลข้างเคียงมาจากยาบางชนิด (นี่เป็นสาเหตุที่ทำไมเราต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาหรือสมุนไพรทุกครั้ง) กรดยูริกจะถูกขับออกทางไตได้น้อยลง ทําให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น และเกิดการสะสมบริเวณไขข้อ จนกลายเป็นโรคเกาต์ได้ในที่สุด ทั้งนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรมยังมีส่วนเร่งให้เกิดโรคเกาต์ได้อีกด้วย
ถ้าพูดถึง “ไก่” ที่ตกเป็น “จำเลยสังคม” มานมนาน ฟาฮัดต้องบอกเลยว่า “ไม่จริง!” น้องไก่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์เสมอไป แล้วถ้าจะบอกว่าการกินอาหารที่มีพิวรีนสูงทำให้เป็นโรคเกาต์ ก็ควรพิจารณาปริมาณของพิวรีนในเนื้อไก่ซะก่อนว่ามันมีเท่าไหร่ สูงมากแค่ไหน ซึ่งก็พบว่าเนื้อไก่จัดอยู่ในกลุ่ม “moderate” หรือมีพิวรีน “ปานกลาง” แต่กลุ่มที่ควรถูกเพ่งเล็งคือพวกเหล้า เบียร์ สารให้ความหวาน “ไฮท์ฟรุกโตสคอร์นไซรัป” ที่อยู่ในน้ำอัดลม รวมถึงน้ำตาลทรายขาว และเครื่องในสัตว์ (เครื่องในของไก่ วัว เป็ด ห่าน หมู ฯลฯ) หอย เนื้อเเดง ที่มีงานวิจัยรองรับว่าทำให้ serum urate สูงขึ้นได้มากกว่า!!!!
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เป็นโรคเกาต์แล้ว ควรเลือกอาหารที่มีปริมาณพิวรีนน้อย-ปานกลางเพื่อเซฟตัวเองไว้ดีกว่า โดยอาจเลือกเป็นกลุ่มของธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว *(แอดขอขยายความเรื่องถั่วสำหรับคนที่เป็นเกาต์แล้วนะครับ ถั่วที่กินได้ : ถั่วพลู ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง ถั่วตระกูลนัท อย่างพิตาชิโอ วอลนัท เฮลเซลนัท ส่วนถั่วที่มีชื่อเป็นสี เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง พักก่อนนะครับ มีพิวรีนสูงครับ)โปรตีนจากพืช เนื้อปลา ไข่ไก่ นมไขมันต่ำ ผัก-ผลไม้สด เป็นต้น ทั้งนี้ควรดื่มน้ำวันละ 8-16 แก้ว ตลอดจนควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการลดน้ำหนักช่วยลดการสะสมของกรดยูริกได้ด้วยนะ
สำหรับ เนื้อหาในคอนเทนต์นี้อาจขัดกับความเชื่อในอดีตของเหล่า clinician หลายๆ คน เลยอยากบอกไว้กันดรามาว่าผมเอาข้อมูลมาจาก The American Journal of Medicine [129, 1153-1158] ที่เป็น review “update on Importance of Diet in Gout” เมื่อปี 2016 นะครับ (ใครเจออัปเดตกว่านี้ส่งมาให้แอดด้วยนะครับ/ขอบคุณครับ)”