นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ โพสต์ข้อความอธิบายความแตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แนะให้เปิดโรงเรียน ชี้ การปิดโรงเรียนช่วยลดการแพร่เชื้อ ผลได้ไม่คุ้มเสียกับเด็ก
วันนี้ (29 ม.ค.) เพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความอธิบายความแตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า “โรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดขณะนี้ส่วนใหญ่แพร่ระบาดมาจากผู้ใหญ่มากกว่าจากเด็ก ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กก็สามารถรับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้เหมือนกับผู้ใหญ่ แต่เด็กเมื่อรับเชื้อ ส่วนใหญ่เด็กจะไม่มีอาการ หรือเมื่อป่วยก็มีอาการน้อย โอกาสต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ใหญ่และคนสูงอายุมาก อัตราตายของเด็กจากโรคโควิด-19 ก็ต่ำกว่าไวรัสทางเดินหายใจตัวอื่นๆ มาก
การปิดโรงเรียนมีประโยชน์ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อจากเด็กสู่เด็ก แล้วแพร่ต่อให้แก่ผู้ใหญ่และคนสูงอายุในบ้าน ส่งผลให้ลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของคนสูงอายุ แต่ประโยชน์สำหรับเด็กทางด้านสุขภาพน้อยมาก เมื่อเทียบกับเด็กต้องหยุดเรียน ลดโอกาสในการเรียนรู้
โอกาสเด็กรับเชื้อในโรงเรียนเป็นไปได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กอยู่ใกล้ชิดกัน ไม่สามารถเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆก่อนเอามือมาขยี้ตา แคะจมูก ทำได้ค่อนข้างยาก มีเด็กจำนวนมากอยู่ในห้องเรียนที่เล็ก อากาศถ่ายเทไม่ดี
เราต้องยอมรับโรคโควิด-19 ยังอยู่กับเราอีกนาน การปิดโรงเรียนต่อไป ผลได้ไม่คุ้มเสียสำหรับเด็ก ผมเห็นด้วยในอีกไม่กี่วันทุกโรงเรียนกำลังจะเปิดการเรียนการสอนแล้ว
เมื่อมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครูสอนเด็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนอันดับต้นๆ หากครูติดเชื้อ ครูสามารถแพร่เชื้อให้กับเด็กในห้องเรียนได้ ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิดสำหรับเด็ก กำลังรอผลการศึกษาของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในเด็ก”