xs
xsm
sm
md
lg

“ดีอีเอส” แนะ 10 ข้อ รู้ทันข่าวปลอม หากไม่แน่ใจควรหาข้อมูลเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” โพสต์ข้อความแนะ 10 วิธี สังเกตข่าวปลอม หลังพบระบาดหนักทั้งเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและการเมือง ทำสังคมแตกแยก หากไม่แน่ใจควรหาข้อมูลเพิ่มเติม

วันนี้ (22 ม.ค.) เพจ “Anti-Fake News Center Thailand” ได้ออกมาโพสต์ข้อความแนะ 10 วิธีสังเกต “ข่าวปลอม” เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีกลุ่มไม่หวังดีกุเรื่องราวอันเป็นเท็จลงในโลกออนไลน์เป็นจำนนวนมาก ซึ่งมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำการแพร่กระจายข่าวปลอม ยิ่งเป็นการแพร่กระจายข่าวเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทางเพจจึงได้แนะวิธีสังเกตข่าวปลอมโดยระบุว่า

“70% ของข่าวสารที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย คือ ข่าวปลอม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้รู้ทันข่าวปลอม เฟซบุ๊ก จึงได้แนะเคล็ดลับ 10 ข้อในการสังเกต “ข่าวปลอม” เพื่อให้ผู้ใช้ร่วมกันหยุดการแพร่กระจายของข่าวปลอม

1. สงสัยข้อความพาดหัว : ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวหนังสือเด่นๆ และเครื่องหมายอัศเจรีย์ หากข้อความพาดหัวที่น่าตื่นตระหนก ฟังดูไม่น่าเชื่อถือ ข่าวนั้นน่าจะเป็นข่าวปลอม

2. สังเกตที่ URL : URL หลอกลวง หรือดูคล้ายอาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง เราอาจไปที่เว็บไซต์เพื่อเปรียบเทียบ URL กับแหล่งข่าวที่มี

3. สังเกตแหล่งที่มา : ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน “เกี่ยวกับ” เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม

4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ : เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาต์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากเราเห็นสัญญาณเหล่านี้

5. พิจารณารูปภาพ : เรื่องราวข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรื่องราว เราสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากที่ไหน

6. ตรวจสอบวันที่ : เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์

7. ตรวจสอบหลักฐาน : ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม

8. ดูรายงานอื่นๆ : หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หากมีการรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้ มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง

9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ : บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่

10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม : ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่เราอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่เราแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น”

กำลังโหลดความคิดเห็น