ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ความแตกต่างของคำว่า “อาการข้างเคียง” กับ “อาการไม่พึงประสงค์” จากการได้รับวัคซีนโควิด-19 หลังหลายฝ่ายกังวลกับเหตุการณ์ในประเทศนอร์เวย์
จากกรณีสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทางการประเทศนอร์เวย์พบผู้เสียชีวิต 23 คนจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งหน่วยงาน “นอร์วีเจียน เมดิซีน เอเจนซี” (NoMA) ระบุว่า จากการชันสูตรศพทั้งหมด 13 ศพ พบว่าทุกคนมีลักษณะผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนที่คล้ายคลึงกัน และเตือนว่าการฉีดวัคซีนแก่ผู้สูงอายุและผู้ที่อ่อนแออาจมีผลข้างเคียงที่อันตราย
ต่อมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในนอร์เวย์หาทางปัดเป่าความกังวลด้านความปลอดภัยที่มีต้นตอจากข่าวคราวการเสียชีวิตของคนไข้วัยชราหลายสิบคน หลังได้รับวัคซีคป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค ระบุไม่พบหลักฐานว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน
ล่าสุด วันนี้ (21 ม.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ จากการฉีดวัคซีน โควิด19 ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” โดยได้ระบุว่า
“โควิด-19 วัคซีน
อาการข้างเคียง กับ อาการไม่พึงประสงค์ สิ่งที่สำคัญ ต้องแยกจากกันให้เข้าใจและชัดเจน เมื่อให้วัคซีน สามารถเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น การเสียชีวิต อาการไม่พึงประสงค์ ยังไม่ได้บอกว่าเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีน การตายในนอร์เวย์ หลังให้วัคซีน เป็นอาการไม่พึงประสงค์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีน จึงจะบอกว่าเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีน
การให้วัคซีนแล้ว เจ็บ บวม แดง ที่ตำแหน่งฉีด แน่นอนพิสูจน์ได้ว่า ถ้าไม่ฉีด ก็ไม่เจ็บ ไม่บวม นับเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนแน่นอน อาการไม่พึงประสงค์ จึงกว้างมาก ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีน จึงจะว่าเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีน ดังนั้นเวลารับทราบข้อมูล จะต้องวิเคราะห์ให้ถูกต้องโดยเฉพาะ โควิดวัคซีนเป็นวัคซีนใหม่ จึงต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีน ก่อนแล้วจึงค่อยสรุปว่าเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีน”