xs
xsm
sm
md
lg

อาการผู้ว่าฯ สมุทรสาครห่วงติดเชื้อในปอด ดื้อยาปฏิชีวนะหลายตัว แต่บางตัวไม่ดื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณบดีคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล เผยอาการล่าสุดผู้ว่าฯ สมุทรสาคร แม้อาการคงเดิมแต่พบเชื้อแบคทีเรียรุนแรง ดื้อยาหลายตัว แต่มียาตัวหนึ่งที่ไม่ดื้อ ให้ยาที่ไวต่อเชื้อไปแล้ว ส่วนอวัยวะอื่นๆ ยังคงเดิม พบอาการเริ่มต้านเครื่องช่วยหายใจ ต้องฉีดยาเพื่อให้นอนหลับ

วันนี้ (20 ม.ค.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยอาการล่าสุด นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หลังพบการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีไข้ขึ้นว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาอาการคงเดิม เรื่องของปอดยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มที่ ต้องฉีดยาทำให้หลับเพราะต้านกับเครื่องช่วยหายใจแล้ว ก่อนหน้านี้ระดับออกซิเจนน้อยลง จึงให้ยาเพื่อให้หลับเต็มที่ ยาปฏิชีวนะให้เข้าไปแล้ว จากผลการทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียกับยา พบว่าเป็นเชื้อที่รุนแรงพอสมควร ดื้อยาหลายตัว แต่มียาตัวหนึ่งที่ไม่ดื้ออยู่ ตอนนี้ให้ยาตัวนั้นแล้ว ส่วนการทำงานอวัยวะตอนนี้อยู่ในเกณฑ์คงเดิม ที่แย่ลงก็คือระบบทางเดินหายใจ เกิดจากปอดอักเสบจากแบคทีเรียตัวนี้ ส่วนอื่นๆ ยังคงเดิม จึงรอดูยาปฏิชีวนะซึ่งต้องรอผล 72 ชั่วโมงหลังจากให้ยาเข้าไป และอาจจะต้องตรวจย้อมเชื้อซ้ำอยู่เป็นครั้งคราวว่าเชื้อลดลงดีขึ้นหรือไม่

เมื่อถามว่า ยังคงให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว ตอนนี้มีการเช็กสารคัดหลั่งจากท่อหายใจที่เราดูดออกมาไปดู RT-PCR ซึ่งผลเป็นลบ (Negative) ไม่เจอมาตั้งหลายวันแล้ว คิดว่าไม่ใช่ผลจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีอยู่ แต่เป็นผลมาจากโควิด-19 ที่เข้าไปจู่โจมและทำลายปอดทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซจะไม่ดี ถ้าจู่โจมมากๆ ไม่ว่าจะนอนหงาย นอนคว่ำ ถ้านอนคว่ำยังไม่ดีแสดงว่าปอดถูกทำลายเยอะแล้ว โอกาสกลับมาจะน้อย แต่อาการของผู้ว่าฯ ช่วงแรกไม่ดี แต่นอนคว่ำแล้วดี จึงให้นอนคว่ำ 2-3 วัน เพื่อให้ปอดที่ถูกทำลายแต่ไม่ถาวรให้ฟื้นตัวกลับมา แล้วเริ่มกลับมานอนหงายก็ใช้ได้ ก็ให้นอนหงายต่อเนื่อง 3 วัน พอไปได้ดีก็เข้าสู่ขั้นตอนต่อไป คือ เตรียมเอาเครื่องช่วยหายใจออก เมื่อตรวจดูผลเลือดและการทำงานของอวัยวะต่างๆ เรียบร้อยดีก็วางแผนจะเอาเครื่องช่วยหายใจออก ปรากฎว่าเริ่มถอย ให้ผู้ว่าฯ หายใจเองก็เหนื่อย พอลองอีก 2-3 ครั้งก็เหนื่อย จึงตัดสินใจอย่าเพิ่งรีบร้อนเอาออก หวังว่าปอดที่ถูกทำลายไปบ้างรอวันฟื้นตัวกลับมา ระหว่างนั้นก็ให้นอนหงายก่อน

ปรากฏว่า เนื่องจากการใส่ท่อหายใจนานๆ จึงต้องระวังการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดีนัก เกิดมีการติดเชื้อรอบนี้กลับขึ้นมา ก็ต้องหยุดโปรแกรมที่จะนำเครื่องช่วยหายใจออก กลับมาจัดการเรื่องการติดเชื้อในปอดก่อน ซึ่งจัดการ 3 อย่างใหญ่ๆ คือ ต้องให้ยาปฏิชีวนะที่เชื้อไว เอาเสมหะไปเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาปฏิชีวนะ ก็ยังดีว่ามียาที่ยังไวอยู่ ก็ให้ยาไปเรียบร้อย ส่วนอันที่ 2 ที่ทำคู่ขนานกันไปคือ ดูดเอาเสมหะต่างๆ ที่ค้างในระบบทางเดินหายใจ เอาออกให้ได้มากที่สุด เพราะหากทิ้งไว้เกิดไปอุดหลอดลม การติดเชื้อจะยิ่งมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยังไม่หยุดใช้เครื่องช่วยหายใจตอนนี้ อย่างที่ 3 คือ ต้องได้สารอาหารและน้ำเพียงพอ เพื่อให้เสมหะอ่อนตัวและดูดง่ายขึ้น การติดเชื้อต่างๆ ก็จัดการได้ง่ายขึ้น ตอนนี้สามอย่างทำคู่ขนานตลอดตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อ ก็ต้องให้เวลากับยาปฏิชีวนะตามหลักการคือ 3 วัน ก็จะประเมินผลว่าเชื้อไวตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะนี้อย่างไร

ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ โดยทั่วไปแม้คนที่มีอาการรุนแรง เราให้เพียงแค่ประมาณ 10 วันก็เพียงพอแล้ว ส่วนผู้ว่าฯ ก็เอาเสมหะที่ดูดออกมาไปตรวจ RT-PCR ก็ไม่เจอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นแล้ว ตอนนี้เป็นผลจากเชื้อไวรัสที่ทำให้ปอดมีความเสี่ยงการติดเชื้อ และเกิดการติดเชื้อซ้ำ

ส่วนโรคประจำตัวของผู้ว่าฯ มีผลต่อการรักษาหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า มีผลสองเรื่องใหญ่ๆ คือ อายุ และสอง มีเรื่องทางสมอง โดยทั่วไปคนใช้เครื่องช่วยหายใจนานๆ พอเราเริ่มจะฝึกหายใจได้เอง คนไข้ต้องร่วมมือให้ดี ยกตัวอย่างถ้าคนไข้ร่วมมือดี หายใจแรงๆ ส่วนหนึ่งก่อนหน้านี้เราต้องให้ยาควบคุมเพื่อให้กล้ามเนื้อไม่ต่อต้านกับเครื่องช่วยหายใจ คนที่สมองปกติก็ไม่เป็นอะไร ไม่มีผล ถึงจุดเมื่อไหร่ก็กลับมาแล้ว แต่เมื่อสมองเป็นแบบนี้การรู้ตัวอาจจะก็ช้ากว่าคนธรรมดา มีผลตรงการคำนวณการใช้ยาและการถอยยา ก็อาจจะต้องค่อยๆ ถอย หรือบางช่วงก็อาจจะต้องไม่ให้ยาเต็มที่ ยิ่งถ้าเกิดการสับสนและต่อต้านเครื่องช่วยหายใจยิ่งแย่ใหญ่ ตอนนี้ต้องดูกันแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง เป็นเหตุผลว่าทำไมยังอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก เพราะต้องติดตามอยู่ตลอดเวลา คนที่มีอายุเยอะและเกิดการติดเชื้อบางทีไปมากกว่าหนึ่งอวัยวะก็ได้ ถ้าเผลอไม่ดู และช่วงที่ให้ยาปฏิชีวนะต้องประคับประคองให้อวัยวะทำงานได้เป็นปกติ ตอนนี้อวัยวะดีอยู่แต่ต้องดูสิ่งเหล่านี้คู่ขนาน

“สิ่งที่ต้องระวัง คือ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นที่ปอด มันจะมีผลกระทบกับการทำงานของอวัยวะอื่นหรือเปล่า ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้าการติดเชื้อที่ปอดมีมากจนออกซิเจนในกระแสเลือดไปมีผลกับอวัยวะอื่นๆ ตอนนี้เราต้องเฝ้าดูอวัยวะอื่นด้วย แต่ตอนนี้อวัยวะอื่นยังโอเคอยู่ หลักใหญ่ยังเป็นเรื่องของปอด ยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะในเรื่องการติดเชื้อ ถ้าการติดเชื้อคุมไม่ได้ กระจายออกไปเราก็ยุ่ง หวังว่ายาที่ไวกับการทดสอบนั้นไวจริงกับร่างของท่านด้วย” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น