เพจ "Branding by Boy" โพสต์ข้อความวิเคราะห์ผลงานการปลูกป่า ที่นายฌอน บูรณะหิรัญ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในกิจกรรมงาน Climate Festival @North ที่อ่างเก็บน้ำ ห้วยตึงเฒ่า จ.เชียงใหม่ งบประมาณ 23 ล้านบาท ต้นไม้เหี่ยวแห้งยืนต้นตาย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ใดๆ
จากกระแสดรามาใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา กับกรณี "ฌอน บูรณะหิรัญ" ไปร่วมงานโครงการปลูกป่า ในกิจกรรมงาน Climate Festival @North ที่อ่างเก็บน้ำ ห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่นายฌอน บูรณะหิรัญ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปร่วมด้วย จากนั้น ผ่านไปแค่ครึ่งปี ต้นไม้ที่ร่วมปลูกกันไว้ โซเชียลได้แชร์ภาพกล้าไม้เหี่ยวแห้งยืนต้นตาย
ต่อมา นายศิริชัย ทองประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียว่าต้นไม้ที่ปลูกไว้ตายนั้น ในข้อเท็จจริงแล้วต้นไม้ที่มีการนำมาปลูกไว้นั้น ตามธรรมชาติจะมีการผลัดใบในช่วงหน้าแล้ง และแตกยอดออกใบใหม่ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้งพอดี จึงเป็นปกติที่ต้นไม้ที่ปลูกไว้จะผลัดใบออกหมด แต่เมื่อย่างเข้าช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.จะพบว่ามีการแตกยอดออกใบใหม่ ขณะนี้บางต้นก็เริ่มแตกยอดและออกใบใหม่ให้เห็นบ้างแล้ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ม.ค. เพจ "Branding by Boy" ผู้ผลิตคอนเทนต์ชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์วิเคราะห์ผลงานการปลูกป่าในครั้งนี้ว่า เป็นงานปลูกป่า...ที่ไม่เหลือป่า ในงบประมาณ 23 ล้านบาท ได้ปลิวหายไปอย่างไร้ค่า โดยมี 3 จุดอ่อนใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ขาดความยั่งยืน (low brand sustainability) : โครงการนี้เป็นโครงการทำแล้วทิ้ง ไม่ได้มีใครทำแล้วสนใจดูแลหรือไปต่อยอดความสำเร็จของงาน งานเลยขาดความยั่งยืน
2. ภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ (poor brand image) : เมื่อผลลัพธ์นั้นกลับมาเป็นความไม่สำเร็จของงาน จึงขาดภาพลักษณ์ที่ดีในการจัดทำโครงการ
3. ขาดความน่าเชื่อถือ (low brand credibility) : การทำงานไม่สำเร็จ หรือทำเอาหน้า สุดท้ายเมื่อความจริงปรากฏ ก็ไม่สามารถสร้างศรัทธาให้กับผู้คนได้ต่อไป
"สรุปคือ โครงการปลูกต้นไม้ ที่ไม่ได้ป่า ไปไม่รอดอยู่ดี" ป่าก็ไม่ได้ ไม่เหลืออะไรเลย นอกจากการถางที่ป่าไว้โล่งเตียนเพื่อจัดงาน งบปลิวไป 23 ล้าน ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ