เพจ “Dr.Day ดร.เดย์ กูรูพลังงานไฟฟ้า” ได้ออกมาโพสต์ข้อความคำนวณการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของ กอ.รมน.ด้วยงบประมาณ 45 ล้านบาท ที่โดนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลวิพากษ์วืจารณ์ว่าใช้งบประมาณมากไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับของเน็ตไอดอลชื่อดัง
จากกรณีที่ “พิมรี่พาย” หรือ น.ส.พิมพ์พรรณ สรัลรัชญ์ เน็ตไอดอล และแม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง โพสต์วิดีโอคลิป ระบุว่าได้นำเงิน 550,000 บาทไปซื้อทีวี ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และสร้างแปลงผักให้แก่เด็กๆ ที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นของขวัญในวันเด็กแห่งชาติ ต่อมามีกระแสทั้งชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์
ต่อมาพบเอกสารของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แจงกรณีที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ใน 5 พื้นที่ในตำบลอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 45 ล้าน เมื่อปี 2562 จนกลายเป็นประเด็นดรามาว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่หน่วยงานรัฐทำจึงใช้งบประมาณที่สูงนัก ทำให้กลุ่มที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกับรัฐบาลนำประเด็ดันงกล่าวมาโจมตี
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ม.ค. เพจ “Dr.Day ดร.เดย์ กูรูพลังงานไฟฟ้า” เพจด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ออกมาโพสต์ข้อความการคำนวณราคาเปรียบเที่ยบโซลาร์เซลล์ของ “พิมรี่พาย” และ “กอ.รมน.” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
“โซลาร์เซลล์อมก๋อย 45 ล้าน เหมาะสมจริงหรือ?
กำลังเป็นประเด็นร้อนเลยครับ สำหรับเรื่องโซลาร์เซลล์ราคากลางมูลค่า 45 ล้านบาทของ กอ.รมน. ซึ่งวันนี้เท่าที่ผมพอมีความรู้มาบ้างจะขอลองมาวิเคราะห์ครับว่า ราคานี้เหมาะสมหรือไม่!?
ผมได้ลองเข้าไปดูเอกสารงานจ้างของงานนี้ จะพบว่า รายละเอียดของงานนี้ไม่ได้มีเพียงแต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าและเสาไฟแสงสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ และมีตัวแบตเตอรี่ด้วย! (Battery Energy Storage System) ซึ่งเจ้าแบตฯ นี้มีขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพให้ระบบสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง และเจ้าตัว “แบตเตอรี่” นี่แหละครับที่เป็นตัวที่ทำให้งานจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้มีราคาสูงอย่างที่เห็นในข่าว
เราลองมาดูในรายละเอียดการทำราคากลางการติดตั้งโซลาร์เซลล์ (+แบตเตอรี่) ใน 5 พื้นที่ของอมก๋อย แต่ละพื้นที่มีราคาโซลาร์เซลล์ และราคาแบตเตอรี่ (+Inverter) ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ๆ ของงานนี้ ดังนี้ครับ
1. บ้านพะอัน : โซลาร์เซลล์ 30 kW (ไม่รวมค่าติดตั้ง) ประมาณ 622,500 บาท แบตเตอรี่ 120 kWh+Inverter ประมาณ 3,650,000 บาท ทั้งก้อนจะเท่ากับประมาณ 4,272,500 บาท
2. บ้านจกปก : โซลาร์เซลล์ 50 kW (ไม่รวมค่าติดตั้ง) ประมาณ 1,037,500 บาท แบตเตอรี่ 200 kWh+Inverter ประมาณ 6,130,000 บาท ทั้งก้อนจะเท่ากับประมาณ 7,167,500 บาท
3. บ้านห้วยไก่ป่า : โซลาร์เซลล์ 50 kW (ไม่รวมค่าติดตั้ง) ประมาณ 1,037,500 บาท แบตเตอรี่ 200 kWh+Inverter ประมาณ 6,130,000 บาท ทั้งก้อนจะเท่ากับประมาณ 7,167,500 บาท
4. บ้านมูเซอหลังเมือง : โซลาร์เซลล์ 50 kW (ไม่รวมค่าติดตั้ง) ประมาณ 1,037,500 บาท แบตเตอรี่ 200 kWh+Inverter ประมาณ 6,130,000 บาท ทั้งก้อนจะเท่ากับประมาณ 7,167,500 บาท
5. ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ : โซลาร์เซลล์ 30 kW (ไม่รวมค่าติดตั้ง) ประมาณ 622,500 บาท แบตเตอรี่ 120 kWh+Inverter ประมาณ 3,650,000 บาท ทั้งก้อนจะเท่ากับประมาณ 4,272,500 บาท
ฉะนั้น เมื่อลองบวกตัวเลขทั้งหมดแบบกลมๆ เงินในส่วนโซลาร์เซลล์+แบตเตอรี่จะอยู่ที่ประมาณ 28,000,000 บาท ทีนี้เราลองมาดูว่า แล้วโซลาร์เซลล์กับแบตเตอรี่พวกนี้ สมเหตุสมผลกับราคาตลาดหรือไม่? ผมจะลองยกตัวอย่างเทียบกับราคาเว็บในต่างประเทศดูนะครับ ซึ่งผมลองดูจากข้อมูลของเว็บไซต์นี้ How much do solar panels cost?
พบว่า ราคาโซลาร์เซลล์ต่อ 1 วัตต์ ราคาต่ำที่สุดอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐ นั่นหมายความว่า ราคาโซลาร์เซลล์ 1 kW จะเท่ากับ 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 บาท เมื่อคิดเป็น 30 kW จะอยู่ที่ประมาณ 900,000 บาท สำหรับแบตเตอรี่+Inverter ถ้าเทียบกับราคาจากเพจ Jinko Solar Thailand จะตกค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 27,000 บาทต่อ 1 kWh ฉะนั้นแล้ว เมื่อคิดเป็น 120 kWh จะอยู่ที่ 3,240,000 บาท
ดังนั้นแล้ว ผมมองว่าตัวเลขราคาที่ออกมาเป็นราคากลางนี้ถือว่าอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องอยู่พอสมควร เพราะต้องไม่ลืมว่านี่เป็นราคากลางเท่านั้น แถมในงานนี้ยังมีโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน และเสาไฟพลังงานแสงอาทิตย์ (รวมๆ กัน 5 พื้นที่ก็น่าจะประมาณ 6-7 ล้านได้ครับ) ค่าแรง (เงินก้อนใหญ่) ค่าขนส่ง ค่าอุปกรณ์อื่นๆ และกำไรของบริษัทรวมอยู่ด้วยครับ”