“หมอสายดาร์ก” เล่าประสบการณ์ดูแลคนไข้โควิด-19 พบคนเข้าใจว่าต้องจมูกไม่ได้กลิ่น ทั้งที่จริงอาจไม่สบายนิดหน่อย ชี้พลาดตรงไม่ล้างมือ ถึงจะสวมหน้ากากก็ตาม สุขอนามัยในบ้านไม่ดีก็เสี่ยง แนะเช็ดลูกบิดประตู ที่จับตู้เย็น ราวบันไดด้วย ส่วนเชื้อมากับธนบัตรมีเคสอยู่จริง แนะโอนเงินผ่านแอปฯ พบคนไข้บอกดีขึ้นเพราะมะนาวกับน้ำขิง แม้จะไม่เชื่อแต่ก็น่ารักดี
วันนี้ (12 ม.ค.) ในเว็บไซต์ Blockdit ได้มีผู้ใช้นามว่า “หมอสายดาร์ก” เล่าประสบการณ์การดูแลคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มากกว่า 170 เคสที่ผ่านมา ระบุว่า เนื่องจากเหตุการณ์ระบาดที่ผ่านมา จึงได้มีโอกาสทำงานดูเคสเองทั้งหมด เลยขอมาแชร์ข้อมูลเท่าที่เก็บมาได้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างกับเพื่อนๆ แล้วก็พบว่าความเข้าใจผิดยังมีอยู่บ้าง
1. อาการน้อยแทบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยส่วนมากอาการน้อย โดยเฉพาะวันแรกๆ แทบไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติเลย บางคนจะให้ประวัติครั้งแรกว่าไม่มีอาการ แต่พอถามจริงๆ ก็นึกไปมา ก็บอกว่ามีวันหนึ่งรู้สึกเหมือนเป็นหวัด กินยาแป็บเดียวก็ดีขึ้นแล้ว เลยคิดว่าไม่ใช่โควิด จึงได้เข้าใจว่าผู้ป่วยส่วนมากมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง คือเข้าใจว่าโควิดต้องเป็นเยอะ ต้องมีจมูกไม่ได้กลิ่น ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย อาการอย่างที่ว่าอาจจะพบได้แต่วันหลังๆ ไม่ใช่อาการตอนแรก อาการวันแรกๆ หลายคนจะแค่รู้สึกไม่ค่อยสบายนิดหน่อยเท่านั้นเอง หรือบางคนอาจจะไม่รู้สึกจริงๆ ก็ได้
2. อาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ไม่ได้เป็นวันแรก ที่ซักมาพบได้ประมาณ 60-70% โดยระยะเวลาที่เป็นจะประมาณวันที่ 3-7 ของการเริ่มมีอาการ ซึ่งระยะเวลาแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนเป็น 3-4 วัน บางคนเป็นเกือบ 1 สัปดาห์ นานสุดที่เจอ 10 วันยังไม่หาย ที่อ่านดูนานสุด 1 เดือน ระวังการที่ให้สังเกตแต่อาการจมูกไม่ได้กลิ่น ต้องระวังจะ Delay Detection (วินิจฉัยล่าช้า) เพราะที่สังเกตกว่าจะมีอาการ ก็คงแพร่กระจายโรคไปมากแล้ว
3. ก่อนที่จมูกจะได้กลิ่นกลับมา คนไข้จะบ่นว่าแสบจมูก (ไม่ได้ดมยาดม คือแสบเอง) จะมีอาการประมาณ 1-2 วัน แล้วก็จะเริ่มได้กลิ่น
4. ลิ้นไม่รับรส ก็พบได้ แต่ไม่บ่อยเท่าจมูกไม่ได้กลิ่น แล้วก็เวลาดีขึ้นมักกลับมาก่อนจมูกไม่ได้กลิ่น
5. ระยะอันตราย อาการวันที่ 5-7 เป็นช่วงที่ต้องระวังมากๆ คนไข้ส่วนหนึ่งจะมีอาการมากขึ้นช่วงนี้ หลายคนเป็นปอดอักเสบ
6. เอกซเรย์ผิดปกติ แต่แทบไม่มีอาการ ช่วงปอดอักเสบช่วงแรกๆ คนไข้มักจะยังไม่เหนื่อย และอาจจะยังไม่ไอ มีหลายเคสที่เอกซเรย์ปอดพบผิดปกติ ทั้งๆ ที่คนไข้ยังไม่มีอาการอย่างว่าเลย และถ้าให้ยาช่วงนี้ตอนที่ฟิล์มเปลี่ยน แต่อาการยังไม่มาก หลังจากให้ยา เหมือนจะมี Reaction (ปฏิกิริยา) ขึ้น คนไข้อาจจะเริ่มมีไอ หรือไข้ขึ้น 1-2 วัน แล้วก็ค่อยๆ ดีขึ้น
7. อายุน้อยก็อาการหนักได้ ถ้าคนไข้มาตอนมีอาการเยอะแล้ว เช่น ไอเยอะมาก เอกซเรย์ปอดมักพบผิดปกติชัดเจนแล้ว กลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะมีออกซิเจนในเลือดต่ำ ที่เจอมีทั้งหนุ่มๆ แล้วก็กลางคนก็มี
8. เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วไม่ไวพอในการคัดกรอง Pulse Oximeter หรือเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ไม่ไวพอที่จะใช้คัดกรองการเกิดปอดอักเสบเพียงอย่างเดียว ฟิล์มเอกซเรย์ดูจะบอกได้เร็วกว่า
9. ยิ่งอ้วน ความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคชัดมาก
10. เมื่อเป็นแล้วรักษาครบ ต้องตรวจซ้ำไหม แม้แนวทางการรักษาปัจจุบัน อาจจะไม่ได้ให้ตรวจ PCR (การตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ) ซ้ำ เพราะตามหลักการเชื่อว่าไวรัสแพร่กระจายได้ประมาณ 2 วันก่อนมีอาการ แล้วหลังจากมีอาการอีกประมาณ 10 วัน ดังนั้น เกินกว่านั้นไวรัสมักจะตายแล้ว คือไม่แพร่กระจายแล้ว แนวทางของประเทศเลยไม่ได้แนะนำให้ตรวจซ้ำ เพราะเชื่อว่าเป็นซากไวรัส แต่บางกรณีแพทย์อาจพิจารณาเป็นคนๆ ไป
11. ล้างมือ ส่วนมากที่ติดมาในคนไทย เท่าที่ซักได้คือใส่หน้ากากกันตลอด แต่ที่พลาดคือล้างมือ
12. พื้นที่ปลอดภัยที่สุด อาจเสี่ยงที่สุด การติดต่อในบ้าน เป็นเรื่องที่พบได้สูงมากๆ มีบ้านหนึ่งอยู่กัน 11 คน ติดหมดยกครัว มานอนกันหมด ทั้งๆ ที่มีคนเดียวเท่านั้น ที่ทำงานตลาดทะเลไทย แสดงว่า เรายังมี Hygiene (สุขอนามัย) ที่บ้านยังไม่ดี
13. การทำความสะอาดบ้าน ยังไม่ดีพอ หลังมีคนหนึ่งติดเชื้อหลายคนที่ผ่านไปมากกว่า 10 วัน ก็มานอนโรงพยาบาลตามกัน ที่คิดว่าติดจากสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องยอมรับว่าคาดเดา เพราะดูจากระยะที่แยกจากผู้ติดเชื้อคนแรกมันดูนาน (จริงๆ ก็ยังได้อยู่ แต่เป็นส่วนน้อย) แล้วก็มีแบบนี้ประมาณ 3-4 ครอบครัว เลยทำให้คิดว่า น่าจะเป็นจากสิ่งแวดล้อม หลายบ้านบอกว่าพ่นน้ำยา แต่ไม่ได้เช็ดถูพื้นผิวสำคัญ เช่น ลูกบิดประตู ที่จับตู้เย็น ราวบันได เป็นต้น พอไล่ถาม ก็มักตอบว่า ไม่ได้เช็ด (แต่ถ้าถามเผินๆ จะตอบทันที ว่าเช็ดหมดแล้ว)
14. Cashless กันเถอะ (เมื่อเชื้ออาจมากับเงิน) มีความเป็นไปได้ ที่ธนบัตรเป็นแหล่งกักเชื้อ มีบ้านหนึ่ง ไม่ได้ออกไปไหนเลยตั้งแต่วันที่ 18 เก็บผักในบ้าน เอาไข่ในบ้านมาทำกับข้าว ไม่มีใครมาเยี่ยม ยกเว้นวันเดียว คือวันที่ 28 มีคนเอาเงินค่าเช่าใส่ถุงมาให้ คนไข้ก็นับเงิน หลังจากนั้นวันที่ 3 เดือนต่อมา เริ่มมีอาการไข้ มาตรวจวันที่ 5 พบ COVID-19 ซึ่งเท่าที่ซักความเสี่ยง ก็ประมาณนี้ ตอนนี้เลยให้คนไข้ฟอกเงินกันให้หมด ร่วมกับใครคล่องๆ ก็ใช้ Cashless ซะ
(Cashless = การชำระเงินแบบไร้เงินสด เช่น โอนเงินผ่านมือถือ)
15. คนไข้มีความศรัทธาในน้ำขิงมะนาวมาก ส่วนตัวก็ไม่ได้เชื่อ แต่ก็ไม่ขัด น่ารักดี มีมะนาวเป็นกิโลฯ ทุกห้อง กับขิงชงสำเร็จรูป
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่