แต่ก่อนคนตาบอดในประเทศไทยเป็นคนอาภัพ มีความรู้สึกอับอายผู้คนที่เป็นคนตาบอด ทั้งยังทำให้พ่อแม่ต้องอับอายไปด้วย จึงไม่ค่อยกล้าเปิดเผยตัวในสังคม ผิดกับในวันนี้ เราได้เห็นคนตาบอดเดินอยู่ตามถนนทั่วไป หลายคนได้รับการศึกษาในขั้นปริญญาไม่ได้ด้อยไปกว่าคนตาดี ส่วนใหญ่ต่างมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ เช่น ขายล็อตเตอรี่ พนักงานบริษัท หรือแม้แต่ข้าราชการก็ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่แค่นั่งอยู่ข้างฟุตปาร์ทหรือบนสะพานลอย แล้วมีกระป๋องวางอยู่ข้างหน้าขอรับความเมตตาจากผู้ผ่านไปมา
ความเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยเป็นหนี้บุญคุณสุภาพสตรีอเมริกันคนหนึ่ง เธอคือ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ซึ่งเธอเองก็ตาบอดทั้ง ๒ ข้างมาตั้งแต่อายุได้ ๒ เดือน เนื่องจากมีผู้ทำน้ำยาเคมีหกรดใบหน้า แต่เธอก็สามารถเรียนจนได้รับปริญญาและประกาศนียบัตรวิชาครูสอนภาษาอังกฤษ เมื่อมาสอนที่ประเทศญี่ปุ่นได้พบกับนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ได้ทราบว่าในเมืองไทยยังไม่มีโรงเรียนสอนคนตาบอด เธอจึงเดินทางเข้ามาด้วยความมุ่งมั่นว่าจะเริ่มเปิดโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นในประเทศไทย
การเริ่มงานนี้นับเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็น อันดับแรกคนไทยทั่วไปไม่เข้าใจว่าจะสอนคนตาบอดให้อ่านหนังสือได้อย่างไร ส่วนทางราชการแม้ไม่ขัดข้องแต่ก็ไม่สนับสนุน อีกทั้งในยามนั้นคนไทยยังมีความหวาดระแวงคนต่างชาติว่าจะเข้ามาเป็นสายลับ และไม่เชื่อว่าคนจากเมืองศิวิไลซ์จะยอมเสียสละมาทำงานให้ประเทศด้อยพัฒนาโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
แต่ในที่สุด ด้วยการสนับสนุนของนายแพทย์ฝนและคนไทยที่เข้าใจเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ได้ช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ นำตำราแบบเรียนภาษาไทยไปพิมพ์เป็นภาษาเบรลล์สำหรับคนตาบอดมาให้ และชักชวนคนเข้ามาเป็นครูอาสาสมัคร จนโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกของเอเซียอาคเนย์ ก่อตั้งขึ้นได้ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๒ ที่บ้านเช่าในซอยแถวศาลาแดง ต่อมาในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ในปีนั้น ก็มีผู้สนับสนุนร่วมกันจัดตั้ง “มูลนิธิช่วยให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย” และได้ย้ายไปอีกหลายแห่งก่อนจะมาลงหลักปักฐานเป็น “โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ” ในวันนี้
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ๒๔๘๘ เมื่อนักเรียนของโรงเรียนสอนคนตาบอดได้ไปแสดงในงานของสโมสรวัฒนธรรมฝ่ายหญิง หลังการแสดง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม “สตรีหมายเลข ๑” ได้เข้ามาทักทายกับทีมผู้แสดง ทำให้นักเรียนตาบอดต่างดีใจไปตามกัน และถามหา “ท่านผู้นำ” จอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าอยากจะพบท่าน
๓ ทุ่มคืนนั้นเสียงโทรศัพท์ของโรงเรียนก็ดังนั้น แจ้งข่าวดีว่า “ท่านผู้นำ” นัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นักเรียนตาบอดที่ทำเนียบสามัคคีชัย ซึ่งเป็นชื่อของทำเนียบรัฐบาลในสมัยนั้น
หลังอาหารวันนั้น นักเรียนตาบอดได้เข้าแถวร้องเพลงให้ท่านผู้นำและแขกในงานฟัง ซึ่งจอมพล ป.มีความพึงพอใจอย่างมาก นอกจากจะบริจาคเงินส่วนตัวให้โรงเรียนแล้ว ยังจัดให้โรงเรียนสอนคนตาบอดเข้าสังกัดกรมประชาสงเคราะห์ ตั้งงบประมาณช่วยเหลือปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นก้าวแรกในการสนองตอบจากฝ่ายรัฐ
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงเรียนสอนคนตาบอดถูกทิ้งระเบิด จึงย้ายไปอยู่บางตาล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีระยะหนึ่งก่อนจะย้ายไปหัวหิน จนสงครามสงบจึงย้ายกลับมากรุงเทพฯ อยู่ที่ซอยชิดลม ตรงข้ามกับบ้านจอมพล ป.ที่ต้องคดีอาชญากรสงครามพอดี เห็นท่านผู้หญิงละเอียดออกมาเดินออกกำลังทุกวัน วันหนึ่งนักเรียนและครูจึงเชิญท่านไปนั่งคุยที่สนามของโรงเรียนและร้องเพลงให้ท่านฟังในฐานะผู้มีพระคุณ และบอกท่านว่าจะสวดมนต์ทุกวันขอให้ท่านจอมพลปลอดภัยได้กลับมาเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลอีก
ปรากฏว่าจอมพล ป.พิบูลสงครามรอดพ้นคดีอาชญากรสงคราม และกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากการทำรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ ในปี ๒๔๙๒ จอมพล ป.จึงอนุมัติให้เช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ ๘ ไร่เศษ ที่สี่แยกตึกชัย ถนนราชวิถี เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนคนตาบอดมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอดพร้อมสมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราขหลายครั้ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “ยิ้มสู้” เป็นขวัญกำลังใจแก่คนตาบอด และทรงสอนเนื้อร้องและทำนองเพลงให้นักเรียนตาบอดด้วยพระองค์เอง เพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” จึงเป็นเพลงประจำโรงเรียนสอนคนตาบอดนับตั้งแต่นั้นมา
ปีการศึกษา ๒๕๐๓ โรงเรียนสอนคนตาบอดได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของกระทรวงศึกศาธิการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชน
เดือนตุลาคม ๒๕๒๐ โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ” จัดเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศล
นอกจากกรุงเทพฯแล้ว มิสคอลฟิลด์ยังเปิดโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นที่ประเทศเวียดนามในปี ๒๔๙๙ ที่เชียงใหม่ในปี ๒๕๐๓ และยังไปเตรียมงานที่จะเปิดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานีอีก แต่เนื่องจากเกิดสงครามเวียดนาม อุดรกลายเป็นฐานสำคัญของทหารอเมริกัน เลยระงับโครงการนี้ไป
ความสำเร็จตามความใฝ่ฝันของมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี ๒๕๑๘ เมื่อรัฐบาลได้แก้ไขระเบียบข้าราชการพลเรือน ให้ “บุคคลพิการโดยร่างกายไม่สมประกอบ แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่บกพร่อง มีสิทธิ์สอบบรรจุเพื่อเข้ารับราชการได้”
ทำให้คนพิการทุกประเภท ไม่เฉพาะคนตาบอด ที่สามารถทำงานนั้นๆได้ สามารถเข้าสอบเป็นข้าราชการได้ โดยแข่งขันกับคนตาดีโดยไม่มีข้อจำกัด แต่ในทางปฏิบัติได้ตั้งเริ่มมาก่อนตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ แล้ว โดยรัฐบาลอะลุ้มอล่วยรับคนตาบอดเข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำ เช่น งานรับโทรศัพท์ นักกายภาพบำบัดทางการแพทย์ หรือล้างฟิล์มในห้องมืดของโรงพยาบาล
แต่ทว่าน่าเสียใจ ที่มิสตอลฟิลด์ไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงความสำเร็จในสิ่งนี้ เพราะได้เสียชีวิตไปก่อนโดยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๕ ที่โรงพยาบาลคามิลเลียน กรุงเทพฯ ขณะอายุได้ ๘๔ ปี
ด้วยผลงานที่มุ่งมั่นสร้างให้คนตาบอด ทำให้มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ คือ
ปี ๒๕๐๓ ได้รับเครื่องประดับเชิดชูเกียรติคุณจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในฐานะเสริมสร้างมิตรภาพอันดียิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
ปี ๒๕๐๔ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ จากมูลนิธิรามอนแมกไซไซแห่งฟิลิปปินส์
ปี ๒๕๐๖ ได้รับประกาศเกียรติคุณเมดัล ออฟฟรีดอม จากประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในฐานะชาวอเมริกันผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ชาวโลก
ปี ๒๕๐๘ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในฐานะผู้ทำความดีแก่ผู้พิการตาบอดด้วยความเสียสละและอุทิศตนอย่างแท้จริง
ปี ๒๕๑๒ ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติงานด้านสวัสดิการสังคมชั้น ๑ จากรัฐบาลเวียดนามใต้
ในปี ๒๕๒๓ ผู้เขียนได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “ยอดตาหลก” ให้บริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั้น และได้ไปเห็นนักเรียนตาบอดเล่นฟุตบอลกัน ทั้งๆที่ทุกคนมองไม่เห็นลูกฟุตบอล แต่อาศัยเสียงกระดิ่งเล็กๆซึ่งอยู่ในลูกฟุตบอลที่ทำมาเป็นพิเศษ จึงเชิญนักเรียนของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพเข้าเล่นฟุตบอลในหนังฉากหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี ทำให้คนดูได้รับรู้ถึงความสามารถพิเศษของคนตาบอด และเมื่อรับนักฟุตบอลกลุ่มนี้มาดูหนังเรื่องนี้ที่โรงภาพยนตร์เอเธนส์ ทุกคนก็หัวเราะขบขันในเรื่องราวของหนังเช่นเดียวกับคนดูทั่วไป
ธรรมชาติได้สร้างความมหัศจรรย์ไว้ในร่างกายมนุษย์มากมาย ซึ่งหลายอย่างก็ไม่ค่อยได้ถูกนำมาใช้ จนเมื่อบางคนได้สูญเสียสิ่งสำคัญคือดวงตา แต่ใจยังยิ้มสู้ จึงปลุกสิ่งที่ธรรมชาติให้ไว้มาทดแทน จนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และอยู่ในสังคมด้วยความภูมิใจในตัวเอง
นี่ก็คือความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์