xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าของร้านดังแนะภาครัฐศึกษาผลกระทบโควิด-19 หันหน้าคุยรายใหญ่ช่วยรายย่อยลดค่าเช่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ประกอบการร้านชาบูดัง ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจระบุถึงสถานการณ์ความเดือดร้อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศขณะนี้ แนะภาครัฐหันหน้าคุยกับรายใหญ่เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย

จากสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศไทย ที่ทาง ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่ม 216 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 214 ราย รอสอบสวนโรค 154 ราย ค้นหาเชิงรุกแรงงานต่างด้าว 32 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 47 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน และมีประวัติเสี่ยงไปบ่อนพนันในบางละมุง ตรวจพบโควิด-19 ทั้งนี้ มีรายงานว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจะมีการประกาศให้ 28 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และจะมีมาตรการกำกับว่าต้องปิดสถานที่อะไร อย่างไร โดยเฉพาะร้านอาหาร ที่มีแนวโน้มว่าจะห้ามนั่งกินในร้าน ส่วนผับบาร์ ต้องปิดดำเนินการ ทำให้มีกระแสออกมาคัดค้านจากผู้ประกอบการ

ก่อนหน้านี้ มีร้านชาบูแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจไม่ยอมปิดร้าน มองว่าภาครัฐแก้ปัญหาผิดจุด และตนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เผย “สั่งปิดช่วยอะไรได้บ้าง มีแต่ช่วยให้มีหนี้เพิ่มขึ้น”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ม.ค. เพจ “Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ” เจ้าของร้านชาบูชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความแนะนำผู้ประกอบการรายใหญ่และหน่วยงานรัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวว่า

“หลังจากที่รัฐบาลประกาศ Lock down ในบางพื้นที่และเฝ้าระวังในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เอง ที่ตอนนี้อาจยังไม่ Lock down แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะปิดหากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลด

เชื่อได้ว่าตอนนี้ทุกร้านอาหารคงพยายามควบคุมต้นทุนทุกอย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งวัตถุดิบแค่พอดีใช้ การควบคุมพนักงานไม่ให้มีเกินความจำเป็นและเริ่มได้ยินว่าบางร้านก็เริ่มมีการให้พนักงานออกกันบ้างแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายตัวหนึ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่และลดยากมากหรือแทบจะลดไม่ได้เลยก็คือ ค่าเช่า

ช่วงสถานการณ์ Lock down ครั้งก่อนที่รัฐบาลสั่งปิดห้างทั้งหมดหลายห้างที่ประกาศลดค่าเช่าให้ร้านค้า จนป่านนี้หลายที่ยังเจรจาค่าเช่าย้อนหลังกันไม่จบ หลายร้านกลับถูกเรียกเก็บย้อนหลังในอัตราค่าเช่าเต็มหรือลดราคาน้อยกว่าที่ประกาศไว้ในตอนแรก

พอภาครัฐประกาศเปิดประเทศเหมือนเดิม ค่าเช่าก็เด้งกลับมาในอัตราค่าเช่าเต็มทันที โดยที่ลูกค้ากลับน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ช่วงที่ผ่านมาผู้เช่าเองก็แบกรับต้นทุนก้อนนี้ไปเต็มๆ

และในช่วงที่ภาครัฐออกมาตรฐานคุมเข้มแต่ไม่ปิดห้างแบบนี้ มุมหนึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการยังพอจะขายได้อยู่บ้างถึงแม้ลูกค้าจะหายไปกว่า 50% ก็ตาม แต่สิ่งที่จะตามมาก็คือ ต้นทุนค่าเช่าที่บวมจนอาจเป็น 30-40% ของยอดขาย ซึ่งพอไม่มีมาตรฐานปิดห้างนั้นก็ทำให้ห้างเองมีเหตุผลที่จะไม่ลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการเพราะถือว่ายังเปิดให้บริการตามปกติ ครั้นจะให้ผู้เช่าตัวเล็กๆไปต่อรองเจ้าของห้างเองก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้หากไม่ใช้เชนร้านอาหารขนาดใหญ่

ในมุมธุรกิจเข้าใจได้ว่าห้างเองก็มีต้นทุนที่สูงในการดำเนินการ แต่หากภาครัฐเข้าใจกลไกธุรกิจดีพอ บางทีอาจไม่จำเป็นต้องออกมาตรฐานอะไรเยียวยาผู้ประกอบการเหมือนในรอบแรกเลย แต่แค่เรียกเจ้าของห้างสรรพสินค้าทั้งรายใหญ่รายเล็กทั้งหลายมาพูดคุยเพื่อลดค่าเช่าลงให้สอดคล้องกับรายได้ที่หายไป แล้วอาจไปช่วยเจ้าของห้างในมุมอื่นแทน ก็จะทำให้วงจรเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนไปได้

เหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอจาก SME ตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเงินทุนเหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลาย และไม่อยากเห็น SME ต้องทยอยเลิกธุรกิจไปรวมถึงถูกแบรนด์ใหญ่ไล่ซื้อธุรกิจเพราะเพียงแค่สายป่านยาวไม่พอ”

กำลังโหลดความคิดเห็น