ผอ.รพ.สมุทรสาคร เผยอาการผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ดีขึ้น หลังพบเชื้อโควิด-19 และมีอาการอ่อนเพลีย เผยขอตรวจเมื่อวานนี้ เพราะเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” ไม่ให้มีข้อครหาว่าติดโควิดจากการตั้งศูนย์แห่งนี้ ฝากขอบคุณทุกกำลังใจ ฝากการ์ดอย่าตก และผลักดันสถานที่ให้ได้ หวังควบคุมโรคได้ดีขึ้น
วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ถนนเอกชัย ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร แถลงข่าวอาการของ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งพบว่าติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเข้ารับการรักษาเมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.) ว่า ก่อนหน้านี้ มีอาการอ่อนเพลียมา 2-3 วัน เพราะทำงานหนัก แต่เมื่อได้เข้ารับการรักษาแล้วเช้าวันนี้อาการดีขึ้น พูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเดิม ส่วนจะมีการส่งต่อไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทางแพทย์
“ผมเข้าไปเยี่ยม อยู่ด้วยตั้งแต่เมื่อคืน เมื่อตอนเที่ยงก็เข้าไปเยี่ยม จริงๆ ตั้งแต่เมื่อวาน ท่านแจ้งผมว่าขอตรวจ จึงตรวจเมื่อวานตอนเย็น ที่ขอตรวจเพราะให้เหตุผลว่า เนื่องจากเราเตรียมที่จะดำเนินการเรื่องศูนย์ห่วงใยคนสาคร ซึ่งอยู่ใกล้บ้านท่าน ท่านก็อยากจะตรวจก่อน เพื่อที่จะถ้าสมมติว่าพบสารพันธุกรรม ก็จะได้ชัดเจนว่าไม่ได้เกิดจากศูนย์ห่วงใยคนสาคร ถ้าเกิดพบเชื้อแล้วจริงๆ ก็จะได้บอกว่า นี่ไง คือความจำเป็นที่จังหวัดสมุทรสาครจะต้องมีศูนย์ห่วงใยคนสาคร เพราะว่าถ้าเรามี ก็จะมีสถานที่ๆ จะแยกเพื่อควบคุมโรคได้ดีขึ้น” นพ.อนุกูล กล่าว
สำหรับสาเหตุได้รับเชื้อมาจากไหนนั้น ตนยังไม่ทราบ เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ทำงานลงพื้นที่ มีความเสี่ยงโดยลักษณะงานอยู่แล้ว ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคกำลังติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด พร้อมกับให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก็จะต้องกักตัวเอง และมีการตรวจหาเชื้อด้วยการสวอบ (Swob) ขณะนี้ผลการค้นหาเชื้อยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม และขณะนี้ยังระบุไม่ได้ว่าผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ได้รับเชื้อมาจากไหน อย่างไรก็ตาม ได้ฝากชาวสมุทรสาครว่า อย่างไรก็จะต้องตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาครให้ได้ และขอบคุณทุกคนที่แสดงความห่วงใย ให้กำลังใจ ขอให้ทุกคนการ์ดอย่าตก
ส่วนสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวติดตามผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ซึ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดนั้น นพ.อนุกูล กล่าวว่า ทีมสอบสวนโรคจะให้คำแนะนำ เบื้องต้นต้องประมวลว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ เช่น ไอจามใส่กันโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันถือว่ามีความเสี่ยงสูง หรือพูดคุยกันในระยะ 1 เมตร โดยไม่ได้สวมหน้ากากป้องกัน อยูในห้องประชุมแบบปิดโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันในระยะ 5 เมตร ตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรค ซึ่งทีมสอบสวนโรคจะลงไปพูดคุย โดยทั่วไปกลุ่มเสี่ยงสูงจะกักตัวเข้มข้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำจะให้เว้นระยะ ถ้าเป็นไปได้ก็จะแนะนำให้ทำงานที่บ้าน แต่ต้องสวมหน้ากาก 100%
อีกด้านหนึ่ง ที่บริเวณลานต้นโพธิ์ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้มีการประกาศและจัดสถานที่ให้ผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวติดตามผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร มาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR โดยการใช้ไม้สอดผ่านโพรงจมูก เพื่อนำสารคัดหลั่งมาตรวจสอบว่ามีสารพันธุกรรมหรือเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาถิอเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง โดยมีผู้สื่อข่าวท้องถิ่นจำนวนหนึ่งเข้ารับการตรวจ ทุกคนต่างมีขวัญและกำลังใจดี ไม่ได้วิตกกังวลแต่อย่างใด และเข้าใจในสถานการณ์ในขณะนี้ ที่ผ่านมาการทำข่าวในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง มีการป้องกันตนเองทุกคน มองว่าการทำหน้าที่ย่อมมีความเสี่ยงเป็นธรรมดา หลังจากนี้ ผู้สื่อข่าวทุกคนจะต้องกักตัวเพื่อรอฟังผลการตรวจที่จะออกมาในอีก 3 วันข้างหน้า