จังหวัดสมุทรสาครออกคำสั่งจัดตั้ง “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” ที่สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อป้องกันและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการดีขึ้นหรืออาการไม่หนักได้อย่างรวดเร็ว และจำกัดวงการแพร่ระบาดของโรค หลังที่ผ่านมาสวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ และวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้าน
วันนี้ (26 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ลงนามคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 3557/2563 เรื่อง จัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 25) โดยคำสั่งระบุว่า ด้วยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจังหวัดสมุทรสาครมีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มาประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและจำกัดวงการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 2558 ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 (ฉบับที่ 1) และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ตามมติที่ประชุมฯ ครั้งที่ 58/2563 วันที่ 25 ธ.ค. 2563 จึงมีคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ให้จัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยให้ใช้สถานที่นี้เป็น “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร”
ทั้งนี้ ห้ามบุคคลใดที่ไม่ได้รับอนุญาต เข้าไปหรือออกจากสถานที่ดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค กรณีผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง ด้วยเหตุที่เป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ หากปล่อยให้เนิ่นนานช้าไป จะก่อผลเสียหายร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามนัยมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ปี 2539
สำหรับ “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” จะเป็นสถานที่ดูแลผู้ติดเชื้อที่มีอาการดีขึ้นแล้ว อาการไม่หนัก แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ปะปนกับคนภายนอก มีประโยชน์อย่างมากในการคัดกรองโรคเบื้องต้นได้ ลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด-19 ในชุมชน ทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายไปในวงกว้าง และควบคุมโรงได้อย่างเป็นระบบ โดยจะมีการกางเต็นท์และวางเตียงชั่วคราว มีอาคารอำนวยการ ห้องสุขา ที่อาบน้ำ พร้อมระบบจัดการของเสีย เช่น ถังกักเก็บน้ำเสีย (Septic Tank) ที่พักรวมมูลฝอยทั่วไป ที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อ
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้จังหวัดสมุทรสาครได้เตรียมสถานที่เพื่อทำเป็นโรงพยาบาลสนาม นอกจากภายในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ขนาด 40 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวภายในตลาดกลางกุ้งและหอพักศรีเมือง เริ่มจากที่สวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร แต่พบว่าชาวบ้านใน ต.พันท้ายนรสิงห์ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าตอนนี้ทั้งกุ้งและปูก็ขายไม่ได้ รังเกียจอาหารทะเลสมุทรสาคร ถ้ามาสร้างโรงพยาบาลสนามจะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เพราะกว่าผู้ป่วยจะหายก็กินเวลาอีกนาน
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ชาวบ้านย่านวัดตึกมหาชยาราม และวัดโกรกกราก ออกมาชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร (วิทยาลัยพลศึกษา หรือ วพ.เดิม) เพื่อขัดขวางไม่ให้รถทหารที่จะเข้าไปปรับพื้นที่สนามกีฬาภายใน วพ.เพื่อทำเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยให้เหตุผลว่าชุมชนที่อยู่โดยรอบมีประชากรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ไม่รวมแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังมีสถานศึกษา มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยว่า การตั้งโรงพยาบาลสนามจะไม่มีการแพร่เชื้อ ทำให้ทางจังหวัดต้องหาสถานที่เหมาะสมดังกล่าว
อนึ่ง สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร อยู่บริเวณด้านหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร