xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดงาน “โครงการหลวง” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดงาน "โครงการหลวง 2563" ที่จังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (21 ธ.ค.) เมื่อเวลา 17.44 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าอากาศยานทหารดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน "โครงการหลวง 2563" ภายใต้แนวความคิด "สายธารแห่งภูมิปัญญา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

เมื่อเสด็จ ฯ ถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 กราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ขึ้นแท่นรับการถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นแท่นทรงรับการถวายความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ ต่อจากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จ ฯ ไปยังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ประธานการจัดงานโครงการหลวง 2563 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานโครงการหลวง 2563 พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี คณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี กรรมการที่ปรึกษาพิเศษสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ รองประธานกรรมการอำนวยจัดงานโครงการหลวง 2563 พร้อมคณะกรรมการจัดงาน ข้าราชการ ประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดงาน "โครงการหลวง 2563" แล้วเสด็จ ฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ตามลำดับ ดังนี้ คลังสมองโครงการหลวง "ภูมิปัญญาแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน" รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง องค์ความรู้ที่สั่งสมกว่า 50 ปี เพื่อการพัฒนา แก้ปัญหาพื้นที่สูงในประเทศ ขยายเขตไปสู่นานาชาติ

จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ "จากดินแดนฝิ่น สู่ แผ่นดินทอง" ตามรอยพระบาท ย้อนประวัติศาสตร์โครงการหลวง ปวงราษฎร์สดุดี ใต้ร่มพระบารมี สืบสาน รักษา ต่อยอด สู่ความยั่งยืน แล้วเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรฐานเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจ "พลิกฟื้นพืชเกษตรแทนพืชเสพติด ด้วยระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ทอดพระเนตรฐานเรียนรู้ด้านสังคม "น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพชุมชนเข้มแข็ง ปลูกฝังเยาวชนต้นแบบพึ่งพาตนเอง" นิทรรศการวิชาการ อาทิ สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทานในประเทศไทยที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ "แอนโทไซยานิน" ในปริมาณสูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า "กัญชงของแม่" ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ที่ได้สนองตามพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โครงการหลวงได้พัฒนาพันธุ์เฮมพ์ 4 พันธุ์ ที่สามารถลดปริมาณสารเสพติด THC ได้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด นำเส้นใยไปผลิตเป็นหัตถกรรมในครัวเรือน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ พร้อมทั้งร่วมกับกองทัพบก ทดลองผลิตเครื่องแบบทหารด้วยเส้นใยเฮมพ์ ในส่วนใบเฮมพ์ยังมีสารสำคัญอีกชนิด คือ CBD สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเวชสำอางได้อย่างดี ต้นเอเดลไวส์ มูลนิธิโครงการหลวงได้รับต้นเอเดลไวส์ จากสำนักพระราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2562 มาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในสภาพปลอดเชื้อ เพื่อเก็บรักษาพันธุ์และขยายพันธุ์ จากการศึกษาพบว่า เอเดลไวส์สามารถขยายพันธุ์ได้ดี จึงได้นำต้นกล้าไปทดสอบปลูกเลี้ยงในพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง และสถานีวิจัยดอยปุย อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า สามารถเจริญเติบโตและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สามารถออกดอกได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนมกราคม เรนโบว์เทราต์ สเตอร์เจียน ปลาแห่งสายน้ำและขุนเขาการเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ ในประเทศไทยเริ่มต้นครั้งแรกโดย มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับกรมประมง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 โดยการนำไข่ปลาและลูกปลามาจากประเทศแคนาดา ไปทดลองเลี้ยงที่อำเภอฝาง แต่ยังคงพบปัญหาอุปสรรคหลายประการ จนในปี พ.ศ. 2518 ได้นำกลับมาทดลองเลี้ยงอีกครั้งที่ดอยอินทนนท์ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 โครงการหลวงได้ทดลองศึกษาวิจัยการเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ขึ้นมาใหม่ โดยมอบให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการ จนกระทั่งสามารถผลิตพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และขยายพันธุ์ปลาเทราต์ได้สำเร็จ จากนั้นจึงได้มีการทดลองเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน กุ้งก้ามแดง และปูขน

ทอดพระเนตรนิทรรศการ "กาแฟต้นแรกของพ่อหลวง สู่การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน" กาแฟของพ่อหลวงที่ได้คัดเลือก ปรับปรุงสายพันธุ์ ส่งเสริมปลูก และแปรรูปกาแฟอะราบิกา จนแพร่หลายทั่วทุกดอย มาเป็นกาแฟที่ทุกคนรู้จักในปัจจุบันนี้

จากนั้นได้เสด็จ ฯ ไปยังฐานเรียนรู้สิ่งแวดล้อม ทรงทอดพระเนตรอุโมงค์สภาพปัญหาการทำลายป่า และโมเดลการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม นิทรรศการของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) "สร้างสุขปวงประชา พัฒนาพื้นที่สูงของประเทศ" เน้นหลักการใช้รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวง ปัจจุบันดำเนินการในพื้นที่ 18 จังหวัด ผู้ได้รับประโยชน์ 416,235 คน

เสด็จฯ ฐานเรียนรู้สิ่งแวดล้อม "ป่าอยู่ดี คนอยู่ได้ ภายใต้หลักการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม" ทอดพระเนตรแบบจำลองการใช้ประโยชน์พื้นที่สูงแบบยั่งยืน และทรงพระดำเนินไปยังโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง "ขยายผลสำเร็จโครงการหลวงพัฒนาพื้นที่สูง สร้างสุขปวงประชา รักษาสิ่งแวดล้อม" ทอดพระเนตรตัวอย่างคนบนพื้นที่สูง ผู้ได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดแนวทางพัฒนาแบบโครงการหลวง

ทรงเยี่ยมชมซูเปอร์มาร์เก็ตโครงการหลวง บูธจำหน่ายสินค้าดอยคำ หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ ได้นำผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลไม้อบแห้ง น้ำผักผลไม้สกัดเย็น น้ำผึ้ง และน้ำผลไม้พร้อมดื่มชนิดต่างๆ ซึ่งทางดอยคำ ได้จัดสินค้าราคาพิเศษมาบริการให้ภายในงาน

ต่อมา ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังลานราชพฤกษ์ โอกาสนี้ทอดพระเนตรการบรรเลงดนตรีพร้อมขับร้องหมู่ โดยวงดนตรีจิตอาสาพระราชทาน ใน 2 บทเพลง เพลงแรก "เพลงใต้ร่มไตรรงค์" "เพลงแผนดินของเรา" การแสดงฟ้อนเล็บแบบล้านนา จากประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,899 คน

ทั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวง เกิดจากน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงตระหนักถึงปัญาหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และความอยู่ดีมีสุขขอาณาราษฎรทุกหมู่เหล่า ดังนั้น ในปีพุทธศักราช 2512 จึงทรงมีพระราชดำริให้ริเริ่มโครงการหลวง โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่สูงเพื่อแก้ไขปัญหาในขณะนั้น ได้แก่ ลดพื้นที่การปลูกฝิ่นอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและยกระดับการครองชีพของชุมชน ต่อมาปีพุทธศักราช 2535 โครงการหลวงเปลี่ยนสถานภาพเป็น "มูลนิธิโครงการหลวง" และดำเนินการวิจัยพัฒนาและการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีรายได้ที่แน่นอน คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ลดการปลูกฝิ่นและลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากการทำไร่เลื่อนลอย

การจัดงาน "โครงการหลวง 2563" ระหว่างวันที่ 21-27 ธันวาคม 2563 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิตติมศักดิ์มูลนิธิโครงการหลวง และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวง เฉลิมพระเกียรติสมเด็พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ตลอดจนเผยแพร่กิจกรรมการดำเนินงานของมูลนิธีโครงการหลวง ตลอดระยะเวลา 51 ปีที่ผ่านมา































กำลังโหลดความคิดเห็น