นักวิชาการสิ่งแวดล้อม แนะรัฐบาลต้องลดราคารถไฟฟ้า จอดรถฟรี เดินทางจ่ายคนละครึ่ง จูงใจประชาชนลดการใช้รถส่วนตัว ลดฝุ่น PM 2.5 แทนการขอร้องประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
รายงานพิเศษ
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร ที่กลับมารุนแรงอีกครั้งในช่วงต้นสัปดาห์นี้จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างมาก และเกิดคำถามว่า...ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้มีมาตรการหรือทำอะไรไปแล้วบ้าง เพราะแม้ว่าในวันนี้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็จะมีฝุ่นละอองขนาดเล็กหนาแน่นกลับมาอีกอย่างแน่นอนในช่วง 1-2 เดือนนี้
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดให้การจัดการปัญหา PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และมี “แผนชาติ” ออกมาเป็นแนวทางในการแก้ไข แต่กลับถูกต้้งคำถามเช่นกันว่ายังไม่เห็นมีนโยบายหรือมาตรการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมออกมา นอกจากการออกมารณรงค์ให้ประชาชนช่วยลดการก่อให้เกิดฝุ่นละออง
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เห็นว่า “แผนชาติ” ที่รัฐบาลสร้างขึ้นมายังเป็นเพียงแผนในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ “มาสเตอร์แพลน” (Master Plan) กว้างๆ แต่ไม่มีแผนปฏิบัติการ หรือ “แอ็กชันแพลน” (Action Plan) ที่จะบอกได้ว่าหน่วยงานต่างๆ ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้แก้ปัญหาได้จริง
และที่สำคัญคือ ยังไม่มี “เจ้าภาพ” ที่ชัดเจน โดยมีเพียงการให้กรมควบคุมมลพิษออกมาตรการต่างๆ แต่กรมควบคุมมลพิษก็ทำได้เพียงเป็นผู้ประสานงานไปยังหน่วยงานอื่น ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะสั่งการใดๆ
นายสนธิยกตัวอย่างว่า พ.ร.บ.สาธารสุข มาตรา 28 วรรค 1 กำหนดว่า หากพื้นที่ใดมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินกว่า 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุเดือดร้อนรำคาญ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจดำเนินการจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษได้ตามกฎหมาย เช่น จับกุมหากพบการเผาในที่โล่ง จับรถควันดำ ห้ามเผาศพโดยใช้น้ำมัน ออกมาตรการกำหนดเวลาเข้าออกพื้นที่เมืองชั้นในของรถบรรทุก หรือสั่งให้หยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้า หรืออาคารขนาดใหญ่
แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานท้องถิ่นก็ไม่กล้าใช้มาตรการเหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากเหตุผลที่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจากผู้นำรัฐบาล ส่วนกรมควบคุมมลพิษก็ไม่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานท้องถิ่น หากจะขออำนาจก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งใช้เวลามากเกินไป
จากแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น ทำให้นายสนธิย้ำว่า ประเทศไทยมีแต่เพียงแผนกว้างๆ ยังไม่มีแผนปฏิบัติการที่ลงรายละเอียด จึงเสนอว่าผู้กำหนดนโยบายของรัฐ คือ “นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็นคนสั่งการให้เห็นแนวทางการปฏิบัติ เพราะเราสามารถพยากรณ์ค่าฝุ่นละอองล่วงหน้าได้ก่อนถึง 3 วัน ก็สามารถออกมาตรการต่างๆ ล่วงหน้าได้ เพื่อให้เล็งเห็นผลว่าลดค่าฝุ่นที่จะเกิดขึ้น
นอกเหนือไปจากการรณรงค์ขอร้องจากประชาชน เช่น แทนที่จะขอร้องให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ก็ควรออกประกาศให้หน่วยงานรัฐลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นตัวอย่างก่อน ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการจูงใจประชาชนอื่นๆ ไปด้วย ซึ่งมีมาตรการที่สามารถทำได้เลย คือ ลดราคาค่าบริการรถไฟฟ้า BTS และ MRT ให้จอดรถยนต์ฟรีที่สถานีบริการรถไฟฟ้า
หรืออาจใช้รูปแบบเดียวกับ “โครงการคนละครึ่ง” ด้วยการให้รัฐช่วยจ่ายค่าบริการรถขนส่งสาธารณะครึ่งหนึ่งให้ประชาชนเดินทางมาที่สถานีรถไฟฟ้า และอาจนำน้ำมันเชื้อเพลิง ยูโร 5 มาขายในราคาที่ถูกลง เพื่อจูงใจกลุ่มที่ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลให้เปลี่ยนมาเติมยูโร 5 ที่สะอาดกว่า