xs
xsm
sm
md
lg

รู้หรือไม่การเรียนรู้และฟังผลตรวจเต้านมโดยเครื่องอัลทราซาวด์และแมมโมแกรมเป็นยังไง?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแปลผลการเต้านมด้วยเครื่องอัลทราซาวด์และแมมโมแกรม
คุณผู้หญิงควรจะต้องทราบว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงและยังเป็นสาเหตุการตายจากมะเร็งอันดับสองในผู้หญิงรองจากมะเร็งปอด การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดคือลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมร่วมกับการตรวจเต้านมที่เรียกว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม( Breast cancer screening ) ซึ่งแทบจะมีในทุกโปรแกรมการตรวจสุขภาพสตรีที่มีการขายอยู่ตามโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมคือการตรวจก่อนที่จะพบโรคมะเร็งเต้านมเพราะถ้าเราพบมะเร็งเต้านมจากการตรวจคัดกรองเราจะพบในระยะก่อนที่ผู้ป่วยจะคลำเจอก้อนมะเร็งซึ่งมักจะเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นคือระยะศูนย์หรือระยะหนึ่งซึ่งเป็นที่แน่นอนว่ายิ่งพบเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้นการรักษาให้หายขาดก็จะมีมากขึ้นด้วย นี่จึงเป็นความสำคัญอย่างมากต่อการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ผู้หญิงทุกคน ย้ำนะครับว่าผู้หญิงทุกคนที่เมื่อถึงอายุที่ควรตรวจควรจะต้องตรวจครับ อายุที่ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมคืออายุ40ปี ที่มีคำแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่อายุ40ปีเพราะกว่า80%ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้นเกิดหลังอายุ40ปี เครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในปัจจุบันคือการทำอัลทราซาวด์และแมมโมแกรมซึ่งในปัจจุบันเครื่องมือทั้งสองตัวนี้ได้มีการพัฒนาจนสามารถทำอัลทราซาวด์แบบ3DและแมมโมแกรมแบบDigitalทำให้คุณหมออ่านผลตรวจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น คุณผู้หญิงหลายๆคนคงเคยได้ยินคุณหมอเต้านมรายงานผลตรวจอัลทราซาวด์และแมมโมแกรมว่า เต้านมไม่เป็นอะไรนะอีก6เดือนค่อยมาตรวจใหม่ เคยสงสัยไหมครับว่าที่คุณหมอบอกเต้านมไม่เป็นอะไรแล้วจะต้องมาตรวจใหม่ทำไมอีก6เดือนหรือมันมีก้อนมีซีสต์อะไรหรือเปล่าที่ต้องติดตาม โดยปกติเวลาทำอัลทารซาวด์และแมมโมแกรมเราจะตรวจสิ่งที่พบได้ในเต้านม 3 อย่างคือ ก้อนเนื้องอก,ถุงน้ำหรือซีสต์ จุดหินปูน เมื่อคุณหมอเอกซเรย์เห็นก้อนเนื้องอกซีสต์หรือจุดหินปูนคุณหมอจะอ่านลักษณะของสิ่งที่เห็นทั้ง รูปร่างหน้าตา ขอบเขต ผิว การกระจายตัว ขนาด ตำแหน่งรวมถึงอ่านลักษณะโดยรวมอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เจอเช่น เส็นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณนั้นขนาดต่อมน้ำเหลืองลักษณะของหัวนมและลานนมความหนาของชั้นผิวหนังเป็นต้นเมื่อคุณหมออ่านสิ่งที่เจอทั้งหมดแล้วซึ่งคุณผู้หญิงบางคนอาจจะพบทั้ง3อย่างหรือพบแค่1หรือ2อย่างก็ได้ คุณหมอก็จะแปลผลอ่านสิ่งที่เห็นออกมาเพื่อวัดระดับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมระบบนี้เรียกว่า BI-RADS( Breast Imaging Reporting and Data Systems)มีทั้งหมด5ระดับคือซึ่งแต่ละระดับจะมีความเสี่ยงต่างกันและมีคำแนะนำในการปฏิบัติต่างกันดังนี้
BI-RADS 1 :  หมายความว่าในเต้านมไม่พบก้อนเนื้องอกไม่พบซีสต์ไม่พบจุดหินปูนคำแนะนำคือให้ทำอัลทรราซาวด์และแมมโมแกรมทุกปี
BI-RADS 2 : หมายความว่าสิ่งที่พบไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้องอก,ซีสต์,จุดหินปูนถ้าอยู่ในกลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มเนื้องอกปกติ,ถุงน้ำปกติ,จุดหินปุนปกติที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นมะเร็งน้อยกว่า1%นับว่าเป็นความเสี่ยงที่ต่ำมากในการปฏิบัติแนะนำให้ติดตามด้วยการตรวจอัลทราซาวด์และแมมโมแกรมปีล่ะ1ครั้งทุกปีถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ไม่มีความจำเป็นที่จะทำการเจาะหรือผ่าตัดออกเพียงติดตามอาการต่อไปทุกปี
BI-RADS 3 : หมายความว่าสิ่งที่พบไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้องอก,ซีสต์,จุดหินปูนถ้าอยู่ในกลุ่มนี้จะใช้คำว่าน่าจะเป็นกลุ่มเนื้องอกปกติ,ซีสต์ปกติ,จุดหินปูนปกติที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่า2%นับว่าเป็นความเสี่ยงระดับต่ำในทางปฏิบัติแนะนำให้ติดตามด้วยการตรวจอัลทราซาวด์และแมมโมแกรมทุก6เดือนถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ไม่มีความจำเป็นที่จะทำการเจาะหรือผ่าตัดออกเพียงติดตามอาการต่อไปทุก6เดือนถ้าติดตามไป2ครั้งแล้วทุกอย่างคงที่ไม่ว่าจะเป็นขนาดและรูปร่างจะปรับจากBIRADS 3เป็นBIRADS 2แล้วติดตามเป็นทุก1ปี
BI-RADS 4 : หมายความว่าสิ่งที่พบไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้องอก,ซีสต์,จุดหินปูนถ้าอยู่ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสงสัยว่าจะมีเซลล์ผิดปกติหรือเซลล์มะเร็งอยู่โดยแบ่งออกเป็น 4a,4b,4cตามระดับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมโดย4Aมีความเสี่ยง2-10%, 4bมีความเสี่ยง 11-50%, 4cมีความเสี่ยง 51-95% ในทางปฏิบัติในกลุ่มBI-RADS4 นี้จะต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องซึ่งมีหลายวิธีเช่นใช้เข็มเล็กๆดูดเซลล์ออกมาตรวจจะเรียกว่าFNA( Fine needle aspiration), ใช้เข็มขนาดใหญ่Core needle biopsy ส่วนจะต้องผ่าตัดเอาทั้งก้อนออกมาด้วยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลชิ้นเนื้อว่าเป็นอะไร,ขนาดของก้อน,และอาการทางคลินิค
BI-RADS 5 : หมายความว่าสิ่งที่พบไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้องอก,ซีสต์,จุดหินปูนถ้าอยู่ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่งมากกว่า 95% ที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ ในทางปฏิบัติจะต้องทำการเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจก่อนที่จะผ่าตัดเสมอวิธีที่แนะนำคือการทำCore needle biopsy ซึ่งจะใช้เข็มที่มีขนาดใหญ่ในการเจาะเนื้อเยื่อทำให้ได้ปริมาณเนื้อเยื่อออกมาตรวจมากพอสำหรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ
        ดังนั้นคุณผู้หญิงทุกท่านเมื่อได้รับการตรวจอัลทราซาวด์และแมมโมแกรมแล้วควรจะต้องทราบว่าในเต้านมเรามีก้อนเนื้องอก,ซีสต์หรือถุงน้ำ,จุดหินปูนหรือไม่และควรจะต้องทราบการประเมินBI-RADSด้วยเพื่อจะได้ทราบความเสี่ยงของสิ่งพบและขั้นตอนการติดตามอาการรวมถึงข้อบ่งชี้ในการตรวจชิ้นเนื้อและการผ่าตัด จะได้ทราบสักทีว่าที่คุณหมอบอกว่าเต้านมไม่มีอะไรให้มาตรวจอีก6เดือนนั้นจริงๆเราควรตรวจติดตามอะไร ก้อนเต้านมทุกก้อนไม่จำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อออกตรวจ ก้อนเต้านมทุกก้อนไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ถ้าพบก้อนเต้านมแล้วคุณหมอแนะนำให้ผ่าตัดเลยควรถามคุณหมอก่อนว่าก้อนนั้นBI-RADS อะไรและมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดหรือไม่
โดย นพ.ธีรภพ ไวประดับ Oncologic breast surgeon Bumrungrad International Hospital


กำลังโหลดความคิดเห็น