ลพบุรี - อธิบดีกรมการแพทย์ ติดตามการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมเปิดใช้งานเครื่อง CT SCAN 160 stca โรงพยาบาลมะเร็ง
วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่อาคารปฏิบัติการ 6 ชั้น โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี อ.เมืองลพบุรี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยคณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจิดตามงานรังสีวินิจฉัยและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ พร้อมเปิดการใช้งานเครื่อง CT SCAN 160 slca ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมี นพ.เมธี วงศ์เสนา ผอ.โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี นำคณะแพทย์พยาบาลร่วมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ กลุ่มงานรังสีวินิจฉัยและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 จากกรมการแพทย์สำหรับจัดซื้อและติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทดแทนเครื่องเดิม ซึ่งชำรุดจากการใช้งานมานานกว่า 10 ปี ซึ่งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่นี้มีคุณสมบัติที่สามารถสแกนภาพได้รวดเร็วขึ้นได้อย่างมีคุณภาพเหมาะสมกับการวินิจฉัยแยกโรค
โดยผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีค่อนข้างต่ำ และยังสามารถปรับให้ปริมาณรังสีแตกต่างกันแบบอัตโนมัติตามความหนาบางของร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังมีซอฟต์แวร์พิเศษ สำหรับการทำงานด้านโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถนำภาพการตรวจของผู้ป่วยหลายๆ ครั้ง หรือแตกต่าง มาเปรียบเทียบประเมินผลตอบสนองต่อการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลในการประเมินการรักษาด้านโรคมะเร็ง
ซึ่งช่วยให้แพทย์ทางรังสีรักษา ใช้ทำหัตถการเจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อ หรือใส่สายระบายลม หรือสารคัดหลั่ง โดยผู้ป่วยไม่อึดอัด และมีพื้นที่ ซึ่งมีความเหมาะสมในการทำหัตถการ เนื่องจากอุโมงค์ของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มีความกว้างถึง 78 เซนติเมตร นอกจากนี้ ยังช่วยลดกระเจิงของโลหะในผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดใส่เหล็กในร่างกาย ช่วยให้ได้ภาพทางรังสีที่สวยงามขึ้น และสามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดขั้นต้อนในการทำงานโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ยังได้เป็นประธานเปิดห้องให้คำปรึกษาโรคมะเร็งทางพันธุกรรม ซึ่งทางโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ได้เข้าร่วมกับศูนย์จีโนมิกส์ ศิริราช ในการส่งตรวจหา Germline Test โดยได้เริ่มดำเนินการบริการให้คำปรึกษาโรคมะเร็งทางพันธุกรรม ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา จัดให้บริการสัปดาห์ละ 3 วัน ได้แก่ จันทร์ พุทธ และศุกร์ ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเป็นลำดับแรก โครงการนี้ได้รับความสนใจจากผู้ป่วยมะเร็งเป็นจำนวนมากในการขอเข้ารับบริการ