xs
xsm
sm
md
lg

สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เผย ผลสำรวจ 91.5% เห็นด้วย ให้ “ยกเลิกใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” เผยสำรวจจากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ร้อยละ 91.5% เห็นด้วย ให้มีการ “ยกเลิก” ใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียน แต่ให้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบปกติ หรือชุดสุภาพตามอัธยาศัย” แทน

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. เพจ “สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” ได้เผยสำรวจจากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง 20 คณะ พบว่า ร้อยละ 91.5 เห็นด้วย ให้มีการ “ยกเลิกบังคับ” ใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ

โดยระบุว่า “เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล (แฟรงค์) พร้อมด้วย ผู้ติดตาม อุปนายกฝ่ายกิจการมหาวิทยาลัย กฤตภาส เชษฐเจริญรัตน์ (กาเรต) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยสามัญครั้งที่ 7/2563 โดยในครั้งนี้ได้เสนอวาระในที่ประชุม พร้อมรายละเอียดดังต่อไปนี้

อุปนายกฝ่ายกิจการมหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ เสนอว่า ทุกวันนี้หลายท่านอาจตั้งคำถามกับการมีอยู่ของหลายสิ่งหลายอย่างในปัจจุบัน เชื่อว่า ทุกท่านในที่นี้อาจพบปัญหาหรือสงสัยว่าทำไมเรายังต้องใส่ชุดนิสิตมาเรียนหรือมาสอบด้วย กฎระเบียบที่ยังคงบังคับใช้พวกเรามาตลอดตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ในวัยระดับอุดมศึกษา กำหนดแม้กระทั่งสิ่งที่เราต้องใส่หรือห้ามใส่ไปสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สามารถเห็นได้จากนิสิตที่เรียกร้องและเคลื่อนไหวสนับสนุนให้ยกเลิกชุดนิสิตจำนวนมาก อย่างสมเหตุสมผล และเป็นที่ประจักษ์ด้วยเช่นกัน จึงอาจอนุมานได้ว่า ยังมีนิสิตอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใส่ชุดนิสิตของกฎระเบียบมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงออกมา

ในมุมของข้าพเจ้าแล้ว เพื่อให้เกิดความแน่ใจกับความคิดดังกล่าว และเพื่อหาเหตุผลที่สนับสนุนการยกเลิกบังคับชุดนิสิต จึงได้ทำแบบสำรวจในรูปแบบออนไลน์สอบถามนิสิตจุฬาฯ ทั้งมหาวิทยาลัย ระดับชั้นปริญญาตรี ทั้งหมด 20 คณะ/สำนักวิชา/สถาบัน โดยได้ตั้งคำถามว่า “คุณเห็นด้วยให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบหรือไม่” พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นเหตุผล หรือประสบการณ์ต่างๆ จากเครื่องแบบ

จากการสำรวจนิสิตจุฬาฯ ทั้ง 20 คณะ/สำนักวิชา/สถาบัน พบว่า ร้อยละ 91.5 เห็นด้วย ให้มีการ “ยกเลิกบังคับ” ใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ และมีเพียงร้อยละ 8.5 ไม่เห็นด้วย และเห็นว่า “สมควรมีการบังคับ” ใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบต่อไป

จากแบบสำรวจเปิดให้นิสิตสามารถแสดงความคิดเห็นได้ พบว่า นิสิตจำนวนมากได้ร้องเรียนผ่านแบบสำรวจว่า ตนเดือดร้อน เผชิญความลำบาก พบเจอความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางเพศ และรับภาระเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ตลอดจนเรียนได้ไม่คล่องแคล่วในบางสาขาวิชา รวมถึงการถูกละเมิดสิทธิจากการบังคับใส่เครื่องแบบอยู่หลายรูปแบบ

จากที่กล่าวมา รวมถึงความคิดเห็นของนิสิตจำนวนหนึ่งที่นำเสนอไปแล้วนั้น สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ กังวลถึงสภาพดังกล่าวอย่างยิ่ง จึงขอเรียนเสนอในที่ประชุมฯ พิจารณามีมติให้ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการออกหนังสือหรือจดหมายเปิดผนึกเรียนอธิการบดี ให้พิจารณาออกประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต ฉบับใหม่ เพื่อยกเลิกความในข้อ 6 (2) (ก) และข้อ 6 (3) (ก) ในประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2562 และเพิ่มข้อความว่า “นิสิตระดับปริญญาตรี ให้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบปกติหรือชุดสุภาพตามอัธยาศัย” แทน
ทั้งนี้ การเสนอในครั้งนี้ ไม่ได้มีความประสงค์ให้ยกเลิกหรือล้มล้างการมีอยู่ของเครื่องแบบแต่อย่างใด หากเป็นเพียงการเสนอเพื่อให้นิสิตได้มีเสรีภาพในการเลือกสรรและกำหนดการแต่งกายในชีวิตมหาวิทยาลัยมากขึ้น (เยี่ยงอย่างหลายมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีลำดับมหาวิทยาลัยสูงกว่าจุฬาฯ ของเรา หากเทียบตามมาตรฐาน QS World University Rankings ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่ได้กำหนดบังคับไว้แล้วในปัจจุบัน) ในการนี้ เพียงขอให้ “ยกเลิกการบังคับใส่” เครื่องแบบนิสิตเท่านั้น

จึงเรียนมาเพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารฯ พิจารณามีมติให้ออกหนังสือหรือจดหมายไปยังอธิการบดี ในประเด็นและความดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ที่ประชุมพิจารณาและมีมติดังต่อไปนี้

1. อบจ. ช่วยประชาสัมพันธ์แบบสำรวจเพิ่มเติม กรณียกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ โดยใช้แบบสำรวจเดิมของสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ในการดำเนินการต่อไป
(อนุมัติ 20 เสียง ไม่อนุมัติ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากผู้มีสิทธิออกเสียง 21 เสียง)

2. ให้ อบจ. ออกหนังสือเรียนอธิการบดี พร้อมข้อมูลจากแบบสำรวจฯ ให้มีการแก้ไขประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเครื่องแบบนิสิต พ.ศ. 2562
(อนุมัติ 20 เสียง ไม่อนุมัติ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากผู้มีสิทธิออกเสียง 21 เสียง)

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอข้างต้น”





กำลังโหลดความคิดเห็น