xs
xsm
sm
md
lg

โสเภณีนิวซีแลนด์คว้าค่าชดเชยกว่าแสนดอลลาร์จากคดีเจ้าของซ่องคุกคามทางเพศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนของนิวซีแลนด์บัญญัติให้ผู้ขายบริการทางเพศได้รับการคุ้มครองจากการถูกคุกคามทางเพศภายในสถานที่ทำงาน เสมอเหมือนกับพนักงานในอาชีพอื่นๆ
หญิงขายบริการทางเพศนางหนึ่งในนิวซีแลนด์ ซึ่งอาจหาญพอที่จะลุกขึ้นยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าของโรงโสเภณีต้นสังกัดของเธอ ในข้อหาการคุกคามทางเพศ จะได้รับเงินค่าชดเชยก้อนโตระดับตัวเลข 6 หลัก ซึ่งเป็นค่าชดเชยจากการไกล่เกลี่ยยุติคดี คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นผู้แทนของเธอในการฟ้องร้อง ออกคำแถลงข่าวนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ธ.ค.)

คดีฟ้องร้องดังกล่าวเป็นการยื่นฟ้องต่อศาลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้ออกคำตัดสินว่า ตามพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน ผู้ขายบริการทางเพศต้องได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ ในการนี้ เงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุติคดี โดยจ่ายเป็นการชดเชยให้แก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งถูกทำร้ายจิตใจอีกทั้งต้องสูญเสียรายได้อย่างไม่เป็นธรรม

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งนิวซีแลนด์ระบุในคำแถลงข่าวด้วยว่า คดีฟ้องร้องนี้จะเป็นเครื่องตอกย้ำว่าผู้ขายบริการทางเพศทุกรายล้วนมีสิทธิที่จะปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศภายในสถานที่ทำงานเสมอเหมือนกับพนักงานในอาชีพอื่นๆ

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า รายละเอียดต่างๆ ของคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุตัวตนของฝ่ายโจทก์และจำเลย ถือเป็นความลับ

การค้าประเวณีในนิวซีแลนด์เป็นอาชีพถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเป็นคริสตศักราชที่รัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติปฏิรูปการขายบริการทางเพศ หรือ Prostitution Reform Act อันเป็นพื้นฐานที่เอื้อให้ผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับที่ผู้ประกอบอาชีพสาขาอื่นๆ ได้รับ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั้งปวงของรัฐ

เดม แคเธอรีน ฮีลี หรือ เลดี้ฮีลี ผู้ประสานงานระดับชาติแห่งองค์การความร่วมมือเพื่อผู้ขายบริการทางเพศนิวซีแลนด์ (NZPC) เธอเป็นอดีตคุณครูที่ผันตนเองสู่อาชีพโสเภณี ก่อนจะมาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ค้าประเวณี  ในการนี้ ผลงานการอุทิศตนเพื่อผู้ค้าประเวณีอย่างจริงจังนานปี ส่งอานิสงส์ให้เธอได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเดม ซึ่งเทียบเท่ากับยศเซอร์ที่บุรุษได้รับ
ด้าน “เดม แคเธอรีน ฮีลี” หรือ เลดี้ฮีลี ผู้ประสานงานระดับชาติแห่งองค์การความร่วมมือเพื่อผู้ขายบริการทางเพศนิวซีแลนด์ หรือNew Zealand Prostitute’ Collective (NZPC) ให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีว่า ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างยิ่งในอันที่จะลุกขึ้นรักษาสิทธิภายในสถานที่ทำงาน การยุติคดีในลักษณะนี้จึงเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญสำหรับฝ่ายต่างๆ ที่ประกอบอาชีพอยู่ในธุรกิจนี้

ที่ผ่านมา เดมฮีลีเป็นหัวหอกของขบวนการรณรงค์อันยืดเยื้อยาวนานในนิวซีแลนด์ ในอันที่จะต่อสู้ให้งานขายบริการทางเพศหลุดพ้นออกจากการถูกตราว่าผิดกฎหมาย เดมฮีลีบอกว่าเรื่องนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพค้าประเวณีสามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

องค์การความร่วมมือ NZPC ได้มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในกระบวนการร่างกฎหมายปฏิรูปการขายบริการทางเพศ ซึ่งเมื่อผ่านออกมาเป็นกฎหมายแล้ว ก็ได้ช่วยให้โรงโสเภณีสามารถดำเนินธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย พร้อมกับให้สิทธิแก่ผู้ขายบริการทางเพศอย่างเต็มที่

คดีฟ้องร้องคุกคามทางเพศมีครั้งแรกปี 2014

การดำเนินคดีคุกคามทางเพศที่โสเภณีฟ้องร้องเจ้าของซ่องได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในนิวซีแลนด์เมื่อปี 2014 และจบลงด้วยการที่ศาลสิทธิมนุษยชนตัดสินให้ฝ่ายโจทก์วัย 22 ปี
ได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 25,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์

ในตอนหนึ่งของคำให้การต่อศาลสิทธิมนุษยชน ชายเจ้าของโรงโสเภณีถูกอ้างอิงคำพูดว่าเขาสามารถทำทุกสิ่งที่พอใจต่อหญิงโสเภณีในซ่องได้เพราะพวกเธอเป็นพนักงานของเขา
เอเอฟพีรายงานไว้ในปี 2014 พร้อมให้ข้อมูลว่าชายผู้นี้ด่าว่าโจทก์และทำให้เธอรู้สึกหวาดกลัวรุนแรงจนหันไปพึ่งแอลกอฮอล์

“ผู้ขายบริการทางเพศมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศเฉกเช่นผู้ปฏิบัติงานในอาชีพอื่นๆ” คำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนระบุไว้อย่างนั้น พร้อมบอกด้วยว่าการเป็นผู้ขายบริการทางเพศมิใช่ใบอนุญาตให้ใครมาคุกคามทางเพศกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุกคามจากเจ้าของโรงโสเภณี

กฎหมายของนิวซีแลนด์เปิดโอกาสให้ผู้ขายบริการทางเพศสามารถทำงานอิสระในบ้านของตนเองก็ได้ หรือในสถานที่อื่นใดก็ได้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต
กฎหมายปลดแอกโสเภณีพ้นจากแมงดา แถมให้สถานภาพ ‘เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก’

กฎหมายปฏิรูปการขายบริการทางเพศของนิวซีแลนด์เรียกธุรกิจทางเพศทุกอย่างว่าโรงโสเภณี ซึ่งหมายถึงว่าผู้ดำเนินธุรกิจโรงโสเภณีต้องมีใบอนุญาตพิเศษ (โดยมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง) และต้องดำเนินการทุกสิ่งเพื่อให้แน่นอนว่าผู้ขายบริการทางเพศมีอายุมากกว่า 18 ปี
และระมัดระวังดูแลด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ขายบริการทางเพศส่วนใหญ่จะได้เซ็นสัญญารับรองสถานภาพว่าพวกเธอเป็น “ผู้ดำเนินงานอิสระ” มิใช่ลูกจ้าง

นอกจากนั้น กฎหมายยังบัญญัติให้ผู้ขายบริการทางเพศที่รวมกลุ่มตั้งแต่ 4 รายขึ้นไป
มีสถานภาพเป็นผู้ร่วมประกอบการโรงโสเภณีประเภท “Small owner-operated brothel” หรือ SOOB ซึ่งเปิดทางให้แต่ละรายประกอบอาชีพโสเภณีอิสระ เกื้อกูลกัน แต่สามารถดูแลรายได้ของตนเอง ทั้งนี้ โรงโสเภณีอย่างนี้ไม่ต้องขอใบอนุญาต

ยิ่งกว่านั้น กฎหมายยังเปิดโอกาสให้ผู้ขายบริการทางเพศสามารถทำงานอิสระในบ้านของตนเองก็ได้ หรือในสถานที่อื่นใดก็ได้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต

การค้าประเวณีถูกกฎหมายในยุโรปมานานแล้ว มูลค่าหมื่นล้านในเยอรมนี&กำกับดูแลเป็นระบบ

สำหรับในนานาประเทศของทวีปยุโรป การค้าประเวณีเป็นธุรกิจถูกกฎหมายและมีการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ เช่น ในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ กรีซ ออสเตรีย ฯลฯ โดยจะจัดให้เป็นโซนธุรกิจค้าประเวณีอย่างชัดเจน คือ โซนสีแดง และมีกฎระเบียบควบคุมโรงโสเภณีที่ชำระภาษีให้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายมุ่งเพื่อช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อบังคับค้าประเวณี ช่วยคุ้มครองผู้ขายบริการทางเพศให้ได้รับความปลอดภัยเชิงสาธารณสุข ตลอดจนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐ

การค้าประเวณีเป็นสิ่งถูกกฎหมายในสวิตเซอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 1942 ในภาพนี้ของรอยเตอร์เป็นบรรยากาศห้องทำงานของผู้ขายบริการทางเพศในซูริก สวิตเซอร์แลนด์
เว็บไซต์ข่าวBusiness Insider นำเสนอรายงานเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019 ว่าธุรกิจค้าบริการทางเพศเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในยุโรป โดยมีประมาณการว่าจำนวนโสเภณีทั่วสหภาพยุโรปอยู่ที่ประมาณ 700,000 ราย – 1.2 ล้านราย ทั้งนี้ เฉพาะในเยอรมนีประเทศเดียว มูลค่าของธุรกิจค้าบริการทางเพศน่าจะสูงถึง 16,300 ล้านดอลลาร์ต่อปี ตามตัวเลขของสำนักงานสถิติของเยอรมนี

ในการนี้ รายงานข่าวระบุว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่รับรองธุรกิจการค้าประเวณีไม่สู้จะสามารถประสบความสำเร็จนัก ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์กลับไปปรากฏเป็นการยกระดับให้ธุรกิจขายบริการทางเพศเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ดำเนินการในรูปแบบของซ่องในขนาดโรงแรม พร้อมกับเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญของภาษีที่รัฐบาลได้รับ

(ที่มา:

BBC

AFP

en.wikipedia.org/wiki/Catherine_Healy

decriminalizesex.work/nyc-unity-reception

www.familyfirst.org.nz

Communitylaw.org.nz

Reuters

Business
Insider)
กำลังโหลดความคิดเห็น