“วิชา” เผยคดี “บอส” ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ยังไร้วี่แวว เหตุตำรวจยังไม่สามารถระบุได้อยู่ที่ไหน ส่วนการลงโทษผู้ร่วมขบวนการช่วยให้พ้นผิด อยู่ในขั้นตอนสอบสวนของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 14 ธ.ค. 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ลงดาบฟันกลุ่มคนทุจริต ช่วย “บอส เรดบูล” ไปถึงไหน
โดย นายวิชา กล่าวว่า กระบวนการตามตัว นายบอส กลับมาดำเนินคดี ค่อนข้างไปได้ช้า อัยการยืนยันว่าพร้อมที่จะฟ้อง แต่ตำรวจยังไม่แจ้งว่าเจ้าตัวอยู่ที่ไหน เพราะเรื่องนี้ต้องใช้ในการดำเนินการพิสูจน์ว่าอยู่ที่ไหนเพื่อนำตัวมาดำเนินการ หลักเกณฑ์นี้ต้องร่วมกันระหว่างตำรวจกับอัยการ แล้วค่อยดำเนินการตามเกณฑ์ของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แล้วต้อเป็นประเทศที่มีข้อตกลงกันด้วย ข้อนี้สำคัญมาก ไม่ใช่ข้ามไปเอาตัวมาได้เลย
ตอนนี้เหลืออยู่ 2 ข้อหา ที่ยังไม่หมดอายุความ คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และ เสพโคเคน ข้อหาโคเคนจะสิ้นสุดในปี 65 ส่วนขับรถโดยประมาท อีกประมาณ 7 ปี ส่วนจะหาตัวเจอก่อนหมดอายุความไหม ขึ้นอยู่กับว่าผู้เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังแค่ไหน ใช้คนถูกงานหรือเปล่า
กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องจบลงที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเดียวก็ได้ ถ้าเจรจากันรู้เรื่อง มันจบได้ สามารถดำเนินการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ในรูปแบบวินวิน คดีเหล่านี้ ไม่ใช่ทำชนิดที่ว่าให้พ้นความรับผิดไปเลย อย่างน้อยต้องยอมรับว่าทำผิดพลาด จะแก้ไข อย่างเช่นการชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจ
ส่วนกรณีดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่ทำผิด นายวิชา กล่าวว่า กลุ่มแรกพนักงานสอบสวน เราชี้ให้เห็นว่ามันมีกระบวนการสมยอมกันให้กระทำความผิด เราส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ แต่บังเอิญว่า ป.ป.ช. ต้องเคลียร์ให้ชัดเจน เพราะเคยสอบตำรวจที่ทำสำนวน ป.ป.ช. วินิจฉัยว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง แต่ที่เราเสนอไปอาจมีความผิดทางอาญา แต่เขาก็ต้องดูว่ามีพฤติกรรมอะไรที่นอกเหนือจากที่สอบสวนแล้วหรือไม่
ส่วนของทนายความที่กระทำผิด ก็ส่งให้สภาทนายความไปดำเนินการ ก็มีการสอบมรรยาททนายความ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบ
ส่วนของอัยการ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ก็รับลูกไป ความคืบหน้าคือเดิมไม่มีระเบียบในการสอบวินัยระดับรองอัยการสูงสุดขึ้นไป นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลย การตรวจสอบทางวินัยก็ใช่ว่าง่าย คนที่สอบท่านได้ต้องเหนือกว่ารองอัยการสูงสุด เดิมตั้งนายไพรัช วรปาณิ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอัยการมาก่อนเลย เมื่อถูกกดดันก็รู้สึกไม่สบายใจ ถูกคัดค้านต่างๆ นานา ก็เลยติดขัดเดินหน้าไม่ได้ จนท่านขอถอนตัวไป
ในด้านการตายของ นายจารุชาติ มาดทอง พยานปากสำคัญที่ทำให้บอสพ้นผิด แม้ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถ้ามีการสนับสนุนการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ด้วย ตอนแรกคิดว่าน่าให้ดีเอสไอดำเนินการ แต่เขาไม่รับ เพราะฉะนั้นก็โยนมาที่ ป.ป.ช. ซึ่งในที่สุด ป.ป.ช.อาจโยนให้หน่วยงานไหนรับผิดชอบก็ได้
กรณี นายจารุชาติ ทีแรกตำรวจบอกการตายไม่ผิดปกติ เป็นอุบัติเหตุ แต่ที่ผิดปกติ คือทำไมต้องทำลายหลักฐานทางโทรศัพท์ นี่คือสิ่งที่เขาต้องหา