“สำนักอุทยานแห่งชาติ - National Parks of Thailand” เผยภาพซาก “หมาไม้” สัตว์ป่าคุ้มครอง ถูกนักท่องเที่ยวตีนผี ขับรถเร็วทับจนกะโหลกยุบและตายคาที่ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วอนนักท่องเที่ยวขับขี่รถอย่างระมัดระวัง เพื่อลดอุบัติเหตุแก่สัตว์ป่า
วันนี้ (12 ธ.ค.) เพจ “สำนักอุทยานแห่งชาติ - National Parks of Thailand” เผยภาพซาก “หมาไม้” ที่ถูกนักท่องเที่ยวช่วงวันหยุดขับรถเร็ว ส่งผลให้ชนและทับ “หมาไม้” นอนตายกลางถนนอย่างน่าสลดบริเวณ กม.26 ทางขึ้นด่านตรวจปากช่อง จ.นครราชสีมา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยผู้โพสต์ระบุว่า “วันนี้ เวลา 09.05 น. ที่ กม.26 ทางขึ้นทางด่านตรวจ กับ 1 ชีวิตที่ต้องหายไปจากป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ครั้งแรกที่เห็นก็คือ ครั้งแรกที่หมดลมหายใจ ตัวน้อง “หมาไม้” ยังอุ่นๆ อยู่เลย สาเหตุที่ตายเดาไม่ยากมาจากรถที่ทับบริเวณหัวน้อง ทำให้กะโหลกยุบและตายคาที่ ได้นำซากหมาไม้นี้ให้ จนท.ส่องสัตว์เลขประจำรถ 23 นำส่งฝ่ายวิชาการต่อไปแล้วครับ
ขอไว้อาลัยกับหมาไม้ตัวนี้ และขอความร่วมมือกับผู้ขับรถบน อช.เขาใหญ่ ให้ขับอย่างมีวินัย ไม่ขับเร็ว และโปรดระวังเรื่องสัตว์ป่าข้ามถนนกันด้วยนะครับ อยากจะถามหาจิตสำนึกแต่ก็ถามไปไม่เคยได้รับคำตอบ มันคือเรื่องเศร้าของผมในเช้าวันนี้ ใครไม่รักสัตว์ป่า แต่ผมรัก ปล.ไม่มาด่าผมว่าเอารูปลงทำไมนะฮะ ถ้าคิดเหมือนผม “ช่วยกันเเชร์” ครับ”
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวยังไม่ตระหนักมาตรการ 4 ม. ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งกลุ่มอนุรักษ์พยายามรณรงค์ที่ประกอบไปด้วย 1. ไม่ทิ้งขยะ 2. ไม่ให้อาหารสัตว์ 3. ไม่ขับรถเร็ว และ 4. ไม่ส่งเสียงดัง ที่สำคัญ ในพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ ยังมีการเพิ่มมาตรการดูแลพื้นที่เพื่อลดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์ป่า เช่น ติดป้ายเตือน ห้ามขับรถเร็วเกิน 60 กม.ต่อ ชม. พร้อมตั้งด่านตรวจบริเวณจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ แต่ก็ยังมาเกิดความสูญเสียขึ้นอีก โดยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางอุทยานฯ เขาใหญ่ จะเร่งตรวจสอบเพื่อดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป
สำหรับ “หมาไม้” จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่งในอันดับสัตว์กินเนื้อ มีรูปร่างคล้ายพญากระรอกดำ มีลักษณะเด่นคือ ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงหน้าอกมีสีเหลือง ส่วนหัวด้านบนมีสีดำ ขาสั้นเมื่อเทียบกับขนาดตัว ตัวผู้มีฟันเขี้ยวขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย หางยาวพอๆ กับความยาวลำตัว ปัจจุบันถือว่าพบเห็นได้ยากมากในป่าของเมืองไทย