xs
xsm
sm
md
lg

ทูตสหรัฐเสียชีวิตในไทยพร้อมลูก! ตีความกันวุ่นว่าสาเหตุจากการเมือง ก่อนสรุปเพราะป้าย SAPAN KAB!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


พิวริฟอยและวิหคสายฟ้า
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้เกิดข่าวใหญ่ในเมืองไทยและเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการเมืองไทยในยุคนั้น ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ชะอำพร้อมลูกชายอายุ ๙ ขวบ ส่วนลูกชายคนโตอายุ ๑๔ รอดชีวิตแต่บาดเจ็บสาหัสถึงสมองพิการ ซึ่งเหตุการณ์อยู่ในช่วงสงครามเย็นของฝ่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ และทูตผู้นี้ก็มีบทบาทโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายมาหลายประเทศ ส่วนการเมืองไทยก็เกิดการคุมเชิงกันระหว่างผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างกรมตำรวจขึ้นมาเป็นเสมือนกองทัพ กับผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายทหาร หลังจากที่ทูตสหรัฐผู้สนับสนุนฝ่ายตำรวจย้ายไป ทูตคนมาใหม่เป็นฝ่ายสนับสนุนทหาร เมื่อมาประสบอุบัติเหตุครั้งนี้ จึงเชื่อกันว่าต้องเป็นสาเหตุมาจากการเมือง โดยมีอธิบดีกรมตำรวจ ผู้มีฉายา “บุรุษเหล็กแห่งเอเซีย” เป็นผู้ต้องสงสัย

ทูตสหรัฐผู้นี้ก็คือ จอห์น อี. พิวรีฟอย เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๙๗ เป็นนักการทูตระดับชั้นนำของอเมริกา เคยมีบทบาทร่วมกับซีไอเอแทรกแซงการเมืองในกรีซและกัวเตมาลา โค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายมาแล้ว ส่วนในเมืองไทยก็เข้ามาเปลี่ยนนโยบายจากนายโดโนแวน ทูตคนก่อนที่ให้หน่วยซีซับพลายสนับสนุนกิจการตำรวจ มาสนับหนุนให้หน่วยจัสแมค สนับสนุนกิจการทหาร และมีข่าวว่าระหว่างที่จอมพพล ป.พิบูลสงครามกำลังเดินทางไปสหรัฐอเมริกา พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เคยปรึกษากับทูตพิวริฟอยว่าจะทำรัฐประหาร แต่ทูตสหรัฐไม่เห็นด้วย และว่าจัสแมคคงรับเรื่องนี้ไม่ได้ ทำให้การรัฐประหารครั้งนั้นไม่เกิดขึ้น

ทูตพิวริฟอยยังมีรถนิยมในการขับรถเร็วเช่นเดียวกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม กล่าวกันว่าทั้งสองท่านเคยประลองความเร็วกันด้วย โดยท่านทูตพิวริฟอยใช้รถฟอร์ด ธันเดอร์เบิร์ด หรือ “วิหคสายฟ้า” สีฟ้า ซึ่งได้รับเป็นของขวัญวันเกิดในปีนั้น ส่วนจอมพลป.ยังใช้รถเดมเลอคูเป ปรากฎว่าเป็นฝ่ายแพ้ เลยหันมานิยมธันเดอร์เบิร์ดด้วย และเป็นรถคู่ชีพที่ควบออกจากทำเนียบรัฐบาลกลางดึกของคืนวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ เมื่อถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหาร มุ่งไปลงเรือที่จังหวัดตราด เป็นรถที่ประทับใจจนนำไปใช้ระหว่างลี้ภัยอยู่ที่ญี่ปุ่น ปัจจุบัน “วิหคสายฟ้า” ของจอมพล ป. ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี

ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๙๘ อันเป็นวันพบจุดจบของทูตสหรัฐผู้นี้ พิวริฟอยได้เดินทางไปชมการกระโดดร่มของตำรวจพลร่มที่ค่ายนเรศวร หัวหิน เมื่อเสร็จงานได้ขับธันเดอร์เบิร์ดกลับมากับลูกชายทั้งสอง ถนนไปหัวหินในยุคนั้นยังเป็นถนนลูกรัง ๒ เลน พอให้รถสวนกันได้ แต่สะพานแม้จะเป็นสะพานคอนกรีตแล้ว ก็ยังมีแค่เลนเดียวให้รถผ่าน ถ้ารถสองด้านมาถึงพร้อมกัน ก็ต้องรอให้อีกฝ่ายข้ามก่อน โดยกรมทางได้ติดป้ายเตือนก่อนถึงสะพานว่า “สะพานแคบ”

ในตอนเกิดเหตุ ทูตพิวริฟอยขับวิหคสายฟ้ามาด้วยความเร็วเช่นเคย จนรถของคณะทูตและรถตำรวจที่ติดตาม ตามมาไม่ทัน แต่คงเนื่องจากความมืดและไม่ชำนาญเส้นทาง ไม่ทราบว่าข้างหน้าเป็นสะพานแคบ เมื่อมาถึงใกล้สะพานจึงเห็นว่ารถบันทุกคันหนึ่งกำลังข้ามสะพานมา เลยเบรคไม่ทัน เกิดประสานงากันอย่างแรง

ความตายของทูตพิวริฟอยสร้างความตกตะลึงและความสงสัย เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ว ต่างมุ่งไปในทางฆาตกรรมโดยมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจที่กำลังเดินทางไปอเมริกา ตกเป็นผู้ต้องสงสัย แม้หลักฐานรอบด้านจะปรากฏชัดว่าเป็นอุบัติเหตุ

ต่อมาจากการสอบสวนของสถานทูตสหรัฐ เจ้าหน้าที่อเมริกันของหน่วยซีซับพลายผู้อยู่ในรถที่ติดตามทูตมา ได้ให้การและลงลายมือชื่อยืนยันว่า การตายของทูตพิวริฟอยเป็นอุบัติเหตุ แต่ซีไอเอก็ยังยอมรับว่าการตายของทูตครั้งนี้มีทางเป็นอุบัติเหตุได้แค่ ๕๐ เปอร์เซนต์

คุณชวลิต อาคมธน นักเรียนอัสสัมชัญ ได้ให้ข้อมูลเรื่องนี้กับผู้เขียนว่า ตอนที่ข่าวนี้กำลังดัง บราเธอร์ได้นำมาพูดหน้าชั้นเรียนว่า เรื่องนี้ฝรั่งในกรุงเทพฯเชื่อกันว่า สาเหตุอันแท้จริงนั้นน่าจะมาจากป้ายสะพานมากกว่าสาเหตุอื่น เพราะป้ายที่บอกว่าสะพานแคบนั้น ป้ายภาษาอังกฤษที่ติดอยู่ด้วย แทนที่จะใช้คำว่า “NARROW BRIDGE” กลับเขียนว่า “SAPAN KAB” ฝรั่งก็เลยคิดว่า KAB เป็นชื่อสะพาน

ปัจจุบัน ในสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ถนนวิทยุ มีถนนเล็กๆ เส้นหนึ่ง ติดป้ายชื่อไว้ว่า “ PEURIFOY ROAD” นอกจากนี้ในวงการศึกษายังมี “มูลนิธิอนุสรณ์ จอห์น อี. พิวริฟอย” มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนไทยที่ได้รับทุนฟุลไบร์ตไปศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยทัฟส์ อดีตสถานศึกษาของ จอห์น อี. พิวริฟอย เริ่มให้ทุนมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ มี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ เป็นที่ระลึกถึงท่านทูตพิวริฟอย

จอมพล ป.ขับวิหคสายฟ้า

วิหคสายฟ้าของจอมพล ป.ขณะอยู่ญี่ปุ่น

วิหคสายฟ้าจอมพล ป.ที่พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น