นักวิชาการเผยภาพการแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาด โดยการปักไม้ซิกแซ็ก 2 แนว หลังชายหาดแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี กัดเซาะจนคุ้ยส่วนฐาน เกรงว่าสระว่ายน้ำหลังแนวกำแพงจะแตก ปรากฏว่า ผ่านไป 5 เดือน ทรายกลับมาเต็ม ชาวเน็ตทึ่งประหยัดกว่าสร้างเขื่อนคอนกรีตอีก
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sakanan Plathong ของ นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้โพสต์ภาพสภาพหาดทรายที่เจ้าตัวระบุว่าเกิดขึ้นที่ชายหาด บริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 4 พ.ค. 2563 ที่พบว่าคลื่นน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดจนทรายด้านหน้ากำแพงหายไปจนคุ้ยส่วนฐาน ซึ่งเจ้าของสถานที่เกรงว่าสระว่ายน้ำหลังแนวกำแพงจะแตก
นายศักดิ์อนันต์ ได้แนะนำให้ปักไม้ซิกแซก 2 แนว ให้มีช่องว่างระหว่างเสาไม้เท่ากับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเสาไม้แต่ละต้น โดยมีความลึกไม่น้อยกว่า 2 เมตร เจ้าของสถานที่ตัดสินใจปักไม้ซิกแซกแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2563 ปรากฏว่า คลื่นพาทรายมาสะสมเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา หาดทรายได้กลับคืนมาเติมเต็มบริเวณส่วนฐานจนเต็ม สูงกว่า 1 เมตร ภาพดังกล่าวชาวเน็ตแห่ชื่นชมแนวคิดดังกล่าว ว่า ประหยัดงบประมาณกว่าการสร้างเขื่อนคอนกรีตของส่วนราชการ
นายศักดิ์อนันต์อธิบายเพิ่มเติมว่า หลักการก็คือ รั้วไม้โปร่งทำหน้าที่รับแรงปะทะ แต่ยอมให้คลื่นพาทรายผ่านเข้ามา โดยเมื่อปักไม้แนวแรกมีทรายมาเต็มแล้ว ก็จะปักในแนวที่สองสูงขึ้น แล้วเขยิบออกไปในทะเล คลื่นที่เข้ามาสูงกว่าไม้ ถ้าปักเพิ่มต่อ ทรายก็สะสมสูงขึ้นไปอีก การปักไม้ต้องประเมินว่าช่วงที่คลื่นแรงที่สุดของหาดลงไปลึกเท่าไร ก็ปักให้ลึกกว่าแนวนั้นลงไปไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ส่วนที่สูงขึ้นมา ก็ดูแนวที่พบไม้พุ่มว่าสูงเท่าไร ก็ปักสูงประมาณนั้น
สำหรับไม้ที่นำมาใช้ หากมีราคาถูกจะเป็นไม้ยูคาลิปตัส หากแพงขึ้นมาก็จะเป็นไม้สน ถ้าไม่ไผ่ก็ต้องเจาะทะลุบ้อง ไม่ให้มีอากาศอยู่ในกระบอก ไม่เช่นนั้นจะลอย ถ้าเจ้าของที่พร้อมใจกันทำหน้าบ้านตัวเอง ก็จะทำให้ทรายสะสมพร้อมกันทั้งแนว อย่างไรก็ตาม การปักไม้ดังกล่าวยังเป็นเพียงการทดลอง ซึ่งยังคงดูการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลให้ครบปี ช่วงนี้เป็นช่วงคลื่นจากลมตะวันออกเฉียงเหนือแรงที่สุดของปี ทิศทางตะกอนวิ่งจากเหนือลงใต้ น่าจะดักตะกอนได้ แต่พ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะเริ่มเปลี่ยนทิศจากใต้ขึ้นเหนือ ก็จะดูอีกที แต่ตอนนี้เปรียบเทียบกับพื้นที่ข้างเคียงไปก่อนว่าบริเวณอื่นเป็นอย่างไร