การบินไทยประกาศขายเครื่องบินโดยสาร 34 ลำ มีทั้งที่ยังประจำการอยู่ 20 ลำ และที่ปลดประจำการไปแล้ว 14 ลำ หนึ่งในนั้นคือ “แอร์บัสฉาว” A340-500 และ A340-600 ที่ซื้อในสมัยรัฐบาลทักษิณ บินรูทนอน-สตอปอเมริกา ขาดทุนกว่า 7 พันล้าน ที่ยังจอดอยู่ในอู่ตะเภา พร้อมภาระถึงทุกวันนี้
วันนี้ (5 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ก่อนมีคำสั่งให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูกิจการ และตั้งคณะผู้ทำแผน ตามที่การบินไทยเสนอ พบว่า เว็บไซต์ thaiaircrafttrading.com ของฝ่ายวิศวกรรม ได้ประกาศขายเครื่องบินโดยสารมือสอง 7 รุ่น รวม 34 ลำ ซึ่งมีอายุการใช้งานเฉลี่ยเกินกว่า 20 ปี โดยเครื่องบินโดยสารทุกลำจำหน่ายภายใต้เงื่อนไขตามสภาพ และไม่มีประกันหลังการขาย (As is - Where is) กำหนดการส่งมอบในไตรมาส 1 (ม.ค.- มี.ค.) ปี 2564 ผู้สนใจสามารถแสดงความจำนงและเสนอราคาทางอีเมล aircraftsale@thaiairways.com ภายในวันที่ 13 พ.ย. 2563
สำหรับเครื่องบินที่นำมาจำหน่าย ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส A300-600 จำนวน 1 ลำ ผลิตเมื่อปี 1993, เครื่องบินโบอิ้ง B737-400 จำนวน 2 ลำ ผลิตเมื่อปี 1992 และ 1993, เครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 3 ลำ ผลิตเมื่อปี 2005-2007, เครื่องบินแอร์บัส A340-600 จำนวน 6 ลำ ผลิตเมื่อปี 2005-2008, เครื่องบินโบอิ้ง B747-400 จำนวน 10 ลำ ผลิตเมื่อปี 1993-2003, เครื่องบินโบอิ้ง B777-200 จำนวน 6 ลำ ผลิตเมื่อปี 1996-1998 และเครื่องบินโบอิ้ง B777-300 จำนวน 6 ลำ ผลิตเมื่อปี 1998-2000
ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ Outsider's Aviation ได้เปิดเผยทะเบียนเครื่องบินที่การบินไทยนำมาประกาศขาย ซึ่งผู้สื่อข่าว MGR Online ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มีเครื่องบินปลดประจำการไปแล้ว 14 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส A300-600 ทะเบียน HS-TAR นามพระราชทาน ยโสธร, เครื่องบินโบอิ้ง B737-400 ทะเบียน HS-TDF นามพระราชทาน ศรีสะเกษ และ ทะเบียน HS-TDG นามพระราชทาน กาฬสินธุ์ ที่บินครั้งสุดท้าย เที่ยวบิน TG288 เส้นทางสมุย-กรุงเทพฯ หลังจากนั้น การบินไทยจึงยกเลิกเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย และ สมุย-กรุงเทพฯ, เครื่องบินแอร์บัส A340-500 ทะเบียน HS-TLA นามพระราชทาน เชียงคำ ทะเบียน HS-TLB นามพระราชทาน อุตรดิตถ์ และ ทะเบียน HS-TLD นามพระราชทาน กำแพงเพชร ปัจจุบันจอดอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
เครื่องบินแอร์บัส A340-600 ทะเบียน HS-TNA นามพระราชทาน วัฒนานคร, ทะเบียน HS-TNB นามพระราชทาน สระบุรี, ทะเบียน HS-TNC นามพระราชทาน ชลบุรี, ทะเบียน HS-TND นามพระราชทาน เพชรบุรี, ทะเบียน HS-TNE นามพระราชทาน นนทบุรี และทะเบียน HS-TNF นามพระราชทาน แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันจอดอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อรอดำเนินการ, เครื่องบินโบอิ้ง B747-400 ทะเบียน HS-TGP นามพระราชทาน เทพประสิทธิ์ เพิ่งปลดประจำการเมื่อ 27 ก.พ. 2563, ทะเบียน HS-TGY นามพระราชทาน ดารารัศมี เป็นต้น
ส่วนเครื่องบินที่ยังประจำการอยู่ แต่ได้ประกาศขายในครั้งนี้ มีจำนวน 20 ลำ ได้แก่ เครื่องบินโบอิ้ง B747-400 ทะเบียน HS-TGO นามพระราชทาน บวรรังษี เคยใช้ลายเรือสุพรรณหงส์, ทะเบียน HS-TGW นามพระราชทาน วิสุทธิกษัตริย์ ลายสตาร์อัลไลแอนซ์, ทะเบียน HS-TGX นามพระราชทาน ศิริโสภาคย์, ทะเบียน HS-TGZ นามพระราชทาน พิมรา, ทะเบียน HS-TGA นามพระราชทาน ศรีสุริโยทัย, HS-TGB นามพระราชทาน ศรีสัชนาลัย, ทะเบียน HS-TGF นามพระราชทาน ศรีอุบล และทะเบียน HS-TGG นามพระราชทาน ปทุมาวดี
เครื่องบินโบอิ้ง B777-200 ทะเบียน HS-TJA นามพระราชทาน ลำพูน, ทะเบียน HS-TJB นามพระราชทาน อุทัยธานี, HS-TJC นามพระราชทาน นครนายก, ทะเบียน HS-TJD นามพระราชทาน มุกดาหาร, ทะเบียน HS-TJG นามพระราชทาน ปัตตานี และทะเบียน HS-TJH นามพระราชทาน สุพรรณบุรี และเครื่องบินโบอิ้ง B777-300 ทะเบียน HS-TKA นามพระราชทาน ศรีวรรณา, ทะเบียน HS-TKB นามพระราชทาน ชัยนารายณ์, ทะเบียน HS-TKC นามพระราชทาน ขวัญเมือง, ทะเบียน HS-TKD นามพระราชทาน เทพาลัย, ทะเบียน HS-TKE นามพระราชทาน สุคิริน และทะเบียน HS-TKF นามพระราชทาน ละหานทราย ลายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
นอกจากนี้ ในบรรดาเครื่องบินโดยสารที่ประกาศขาย ยังพบว่าหนึ่งในนั้นคือเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ แอร์บัส A340-600 ที่เคยจัดซื้อในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546-2547 และเปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก และกรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา แบบไม่หยุดพัก โดยใช้เครื่องบิน A340-500 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2548 แต่ได้หยุดทำการบินเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2551 รวม 38 เดือน หลังการบินไทยขาดทุนไปกว่า 7 พันล้านบาท เนื่องจากเครื่องบินรุ่นนี้มี 4 เครื่องยนต์ สิ้นเปลืองน้ำมันสูง และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว แม้มีผู้โดยสารเต็มก็ยังขาดทุน อีกทั้งเส้นทางบินในตลาดอเมริกาเหนือมีการแข่งขันสูง การกำหนดราคาสูงเป็นเรื่องยาก ภายหลังการบินไทยยังจอดรอขายที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมภาระค่าบำรุงรักษาที่ตามมา
อนึ่ง ณ วันที่ 27 ก.พ. 2563 การบินไทยมีเครื่องบินประจำการอยู่ทั้งหมด 81 ลำ และสายการบินไทยสมายล์มีเครื่องบินประจำการอยู่ทั้งหมด 20 ลำ