นายสมมาตร วิสุทธิวงษ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านดนตรีไทยร่วมสมัยของ อพท.7 สุพรรณบุรี กล่าวถึง “งานสิบรอบปีครูมนตรี ตราโมท ความรุ่งโรจน์แห่งดนตรีสยาม” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวาระ 120 ปี ครูมนตรี ตราโมท เพื่อเผยแพร่ประวัติ และผลงาน อันเป็นการรำลึกถึงครูมนตรี ตราโมท ปูชนียบุคคลสำคัญของวงการดนตรีไทย ว่า ครูมนตรี ตราโมท จัดได้ว่าเป็นบรมครูดนตรีไทยคนแรกๆ ของ จ.สุพรรณบุรี ที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในกรมศิลปากร แต่ปัจจุบันดนตรีไทยกลับค่อยๆลดบทบาทลง เหลืออยู่แต่ในงานพิธีงานอวมงคลตามต่างจังหวัดบ้าง และสถานศึกษาเป็นหลัก เช่น วิทยาลัยนาฏศิลป์ และในบางหลักสูตรของโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งต้องมาพิจารณากันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“ต้องยอมรับกันว่า ในปัจจุบันแทบไม่มีใครจ้างวงมโหรีเครื่องสายเต็มวงไปเล่นกันแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ทั้งดนตรีไทยและสากลเล่นร่วมกันได้อย่างกลมกลืน โดยต้องไม่ทิ้งรากเหง้าเดิมต้องดำรงไว้ แต่ให้มีการผสมผสานระหว่างกัน ให้ดนตรีไทยเป็นหลักใหญ่ ดนตรีสากลเป็นส่วนผสม มีเส้นเสียงที่หลากหลายมากขึ้น สามารถปรับปรุงสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ทันเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันนี้ แต่ของเดิมก็ต้องยังอยู่ และใช้เพื่อประกอบอาชีพทำมาหากินให้อยู่รอดกันได้ต่อไป” นายสมมาตร กล่าว
ทั้งนี้ นายสมมาตร กล่าวเพิ่มอีกว่า ในวันงานครูมนตรีได้มีโอกาสพูดคุยกับครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ ได้ให้นิยามและมุมมองดนตรีไทยร่วมสมัยว่า “ในวงปี่พาทย์มอญจะมีเล่นเพลงก่อนเข้าย่ำเที่ยง คือ เพลงพม่าประเทศ ซึ่งมี 2 ท่อน ซึ่งก็คือเพลงก่อนเคารพธงชาติเรานี่เอง ส่วนจะเอาเพลงอื่นๆ มาเย็บรวมเป็นชุดก็แล้วแต่จะใช้กันแต่ละวง ท่วงทำนองที่คุ้นหูกัน แต่คงความเป็นไทย ผู้เรียบเรียงเสียงประสานคือพระเจนดุริยางค์ ซึ่งท่านเป็นชาวเยอรมัน ท่านแต่งเพลงชาติ ได้ใช้มาจนทุกวันนี้