xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานนักวิ่ง “เรวดี ศรีท้าว” พูดแทนใจคนไทย “ใส่เสื้อเหลืองทำไมต้องกลัว” ใช้เมตตาเอาชนะเกลียดชัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตนักวิ่งทีมชาติไทย “เรวดี ศรีท้าว” พูดแทนใจคนไทย หลังเจอคำถาม “ไม่กลัวทัวร์ลงเหรอ” ถามกลับ “ทำไมต้องกลัว” ไม่ให้ราคานักการเมืองบางคนดึงฟ้าต่ำ ใครสร้างเรื่องเลวๆ แย่ๆ ไม่ด่า ไม่แชร์ บอกเล่าเรื่องราวที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงทำมากับคนใกล้ตัว ย้ำความเมตตาเท่านั้น เอาชนะความเกลียดชัง

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Reawadee Srithoa หรือ ตุ่น-เรวดี ศรีท้าว อดีตนักวิ่งลมกรดทีมชาติไทย โพสต์ข้อความระบุว่า “#ไม่กลัวทัวร์ลงเหรอ?

ตอนที่พี่ยืนเพื่อพักเข่าพี่ มีพี่คนหนึ่งถามพี่ว่ามานี่ใส่เสื้อเหลืองไม่กลัวโดนทัวร์ลงเหรอ? พี่ถามว่าทำไมต้องกลัว? พี่ไม่เคยกลัวใคร เพราะใจพี่รักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่เกิดแล้ว ใครกล้าเอาทัวร์เข้ามา พี่ตอบกลับแบบสุภาพนิ่มๆ ที่พวกเขาจะไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ของพี่อีกค่ะ พี่ตอบไปแบบนี้ค่ะ

#พี่คิดพี่เชื่อพี่รักพี่ศรัทธาพี่เทิดทูนของพี่

#พี่ชัดเจนเสมอเรื่องรักชาติศาสน์กษัตริย์ พี่ไม่สนใจพี่ไม่ให้ราคานักการเมืองบางคนที่ในชีวิตไม่เคยสร้างประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติ เข้ามาเพื่อหวังประโยชน์ ยิ่งจะมาเพื่อทำลายประเทศด้วยนี่ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้ว พี่ไม่ให้ราคา พี่เห็นสิ่งที่เขากำลังพยายามทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยจะดึงฟ้าลงต่ำ ฟ้ายังไงก็เป็นฟ้า ต่อให้ขึ้นเครื่องบินไอพ่นยังไม่ถึงฟ้าเลย สะเออะจะอยากมาเทียบฟ้า แต่พี่ก็ใช้สติปัญญาอันน้อยนิดของพี่วิเคราะห์ แยกแยะ ด้วยตัวพี่

หน้าที่พี่คือเป็นพลเมืองไทยที่ดีสร้างประโยชน์ให้ประเทศ พี่เคยเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ออกไปบอกชาวโลกถึงความสวยงาม วัฒนธรรมที่ดีงามของไทยให้ทั่วโลกทุกๆ ประเทศที่พี่ไปไม่ว่าจะในยุโรป หรืออเมริกา หรือแม้แต่ในอาเซียน พี่บอกเล่าคนมาดูพี่แข่ง เพื่อนๆ พี่ๆ ระดับเหรียญทองโอลิมปิก ทั้งนั้นให้มาประเทศไทย แถมพี่ยังได้ช่วยนางงามที่มาประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่แล้วอีกต่างหาก พี่ถือเป็นหน้าที่ที่พี่จะช่วยเสริมถึงสิ่งดีๆ ของประเทศไทยให้โลกรู้

ใครที่พยายามสร้างเรื่องราวเลวๆ หรือแย่ๆ พี่พยายามอย่างมากที่จะไม่ไปด่า ไม่ไปช่วยพวกเขากระจายต่อ ด้วยการแชร์สิ่งที่พวกเขากำลังทำ พี่แค่ดู พี่รอวันเวลาที่พี่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงให้ชาวโลกรู้ว่าไทยเรามีดีแค่ไหน เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราเป็นไทจนทุกวันนี้ พี่ไม่ทะเลาะ พี่ไม่หยาบ พี่แค่บอกเล่าให้คนใกล้ตัวพี่ฟัง ถึงเรื่องราวที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงทำมา

พี่เลือกอธิบายบอกเล่าคนใกล้ตัวพี่ พี่ไม่ไปอธิบายหรือไปทะเลาะกับคนที่ไม่ฟัง ไม่เปิดใจฟัง พี่ว่าไม่มีประโยชน์ พี่เอาเวลาของพี่มาร่วมสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ พี่สวมเสื้อเหลืองออกมาเป็นส่วนเล็กๆ ที่เมื่อรวมกันก็เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้ชาวโลกได้เห็น สื่อต่างชาติที่ทำข่าวเพื่อให้ไทยดูไม่ดี แต่เมื่อเผยแพร่ออกไปคนทั่วโลกเห็นหมด

พี่รอและพี่เลือกที่จะมา พี่ไม่มีความกลัวทัวร์หรืออะไร พี่กินเงินเดือนรัฐ พี่ไม่ได้กินเงินจากพวกเขาเหล่านั้น พวกเขาไม่ได้เลี้ยงครอบครัวพี่ รัฐต่างหาก ประเทศนี้ต่างหาก ที่ทำให้พี่และครอบครัวมีแผ่นดินที่อบอุ่น มีพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกๆ พระองค์ ที่พี่เทิดทูนเหนือเกล้า

พี่มีหน้าที่ที่จะทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เสื่อมเสีย พี่ไม่เอาเสื้อเหลืองที่พี่ใส่ไปสร้างความขัดแย้งเพิ่มด้วยความเกลียดชัง พี่ยึดตามพระราชดำรัส ความเมตตาเท่านั้นที่เอาชนะความเกลียดชัง พี่ใส่เสื้อเหลืองด้วยใบหน้าที่มีแต่รอยยิ้ม พี่ไม่ให้ความโกรธเกี้ยวมาบดบังใบหน้าที่สวยงามของสีเหลืองที่รายล้อมรอบตัวพี่ พี่จึงปลื้มใจ อิ่มเอมใจเหลือเกิน

#รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์❤❤
#รักชาติศาสน์กษัตริย์❤
#รักเธอประเทศไทย❤🇹🇭 "


สำหรับ ร.ต.ท.หญิง เรวดี วัฒนสิน หรือ เรวดี ศรีท้าว อดีตนักวิ่งลมกรดทีมชาติไทย ชื่อเล่น “ตุ่น” เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2510 เป็นชาวนครราชสีมา จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ติดทีมชาติมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ลงแข่งกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่ประเทศสิงคโปร์ ปี 2526 แต่ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย คว้าเหรียญให้ทีมกรีฑาไทยถึง 3 เหรียญทอง กับ 1 เหรียญเงิน ครองความเป็นราชินีเหรียญทองในครั้งนั้น

ภายหลังในปี 2534 ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 24 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรวดีคว้า 4 เหรียญทอง พร้อมทำลายสถิติไปกว่าครึ่ง เป็นราชินีเหรียญทองในการแข่งขันครั้งนั้น และที่สร้างชื่อเสียงในชีวิต คือ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 16 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในปีเดียวกัน ได้เป็น “นักกีฬายอดเยี่ยมฝ่ายหญิง” ของการแข่งขัน หลังคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง และได้ขึ้นรับรางวัลจาก นางคอราซอน อาคิโน ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ ในขณะนั้น

นอกจากนี้ เรวดียังกวาดถึง 4 เหรียญทอง ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2540 คว้าชัยชนะในการวิ่งหลายรายการ ทั้งในและระดับนานาชาติ ได้รับเลือกให้เป็น “นักกีฬายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย” ในปี 2540 กระทั่งภายหลังมีอาการบาดเจ็บบ่อยครั้ง จึงตัดสินใจแขวนรองเท้าวิ่งเมื่อปี 2542 โดยรับราชการตำรวจ ก่อนเข้าทำงานที่รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับ วิสุทธิ์ วัฒนสิน มีลูกชายและลูกสาวอย่างละ 1 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น