“พุทธิพงษ์” ตรวจเยี่ยมท่าเรืออัจฉริยะ อ่าวปอ ภูเก็ต ใช้ระบบลงทะเบียนสแกนใบหน้า แถมเชื่อมโยงริสต์แบนด์ติดตามตัว คาดเริ่มใช้งานได้ 10 พ.ย.นี้ ชูสร้างความมั่นใจทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านก่อนเปิดประเทศ
วานนี้ (1 พ.ย.) ที่ท่าเทียบเรืออ่าวปอ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัล คณะผู้บริหารกระทรวง และหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการท่าเรืออัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวง โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ดำเนินการพัฒนาร่วมกับ โฟว์โลว์ ภาคเอกชนในการทำระบบลงเบียนผู้โดยสารทางทะเล
โดยให้ผู้ประกอบการทัวร์ หรือเจ้าของเรือ ลงทะเบียนผู้โดยสาร, ลูกเรือ, กัปตัน ผ่านตู้กรอกข้อมูล บันทึกบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต ก่อนเรือออก มีการใช้ระบบจดจำใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนในการออกผ่านประตูอัตโนมัติ ณ จุดขึ้นลงเรือ พร้อมระบบวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับระบบจัดการผู้โดยสารด้วยสายรัดข้อมือ (ริสต์แบนด์) ฝังคิวอาร์โค้ดที่ใช้ในการลงทะเบียนเพื่อติดตามตัว และใช้เป็นระบบชำระเงินแทนเงินสดด้วย ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้บริการท่าเรือและระบบทั้งหมด รวมทั้งเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าลำแรกในไทยได้ 10 พ.ย.นี้ นอกจากนี้ ยังมีการโชว์สายรัดข้อมือแบบใช้เฉพาะการกักตัว ที่มีระบบยืนยันตัวตน วัดอุณหภูมิ และการเต้นของหัวใจเพื่อตรวจจับการใช้งานของบุคคล เพื่อรองรับเรือสำราญต่างประเทศที่เตรียมจะล่องมาจอดในทะเลไทยอีกด้วย
ด้าน นายพุทธิพงษ์ ได้ชมระบบพร้อมทดลองใช้ตู้กรอกข้อมูล และระบบผ่านประตูแบบจดจำใบหน้า ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ท่าเรืออ่าวปอ ทั้งเจ้าของที่ได้รับสัมปทาน หน่วยงานรัฐ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ร่วมกันในการทำทั้งซอร์ฟแวร์ โปรแกรม มีทั้งริสต์แบนด์ คิวอาร์โค้ด ที่สามารถจะระบุตัวตนนักท่องเที่ยวได้ ในอดีตเราเคยมีโศกนาฏกรรมเรือล่ม ที่ จ.ภูเก็ต ก็มีคำถามถึงการระบุตัวตนนักท่องเที่ยว การควบคุมปริมาณของนักท่องเที่ยวที่ลงเรือ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิตัลสามารถช่วยได้เยอะ สามารถระบุวันที่มา ลงเรือ และการป้องกันควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ทั้งการระบุอุณหภูมิ ระบบติดตามตัว เพื่อให้นักท่องเที่ยวและคนในภูเก็ตปลอดภัย ตัวระบบทั้งหมดมีการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย มีการจำแนกชัดเจน ความรวดเร็วก็ดีมาก
รมว.ดิจิตัล กล่าวว่า ซึ่งที่นี่ก็เป็นที่แรกที่เริ่มใช้ยังมีอีก 6 ท่าเรือที่จะทยอยเริ่มใช้ ก็พร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวแม้กระทั่งในเรือยอร์ชขนาดใหญ่ หรือเรือส่วนตัวที่่จะต้องกักตัวอยู่ในเรือ ระบบนี้ก็สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ทุกคน ก็จะสร้างความมั่นใจอีกด้านให้กับประชาชน ในมิติของเศรษฐกิจเราต้องเปิดการท่องเที่ยวในอนาคต ฉะนั้น ความปลอดภัย ความสะดวกก็มีความสำคัญมาก ก็เป็นสิ่งที่เราทำแล้วและพร้อมที่จะใช้ เชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้เมื่อมีการเข้าออกของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะทางเรือ ทางภูเก็ตก็มีความพร้อมมาก
เมื่อถามถึงเป้าหมายในการใช้ท่าเรือเพื่อผลักดันสถานการณ์เศรษฐกิจของภูเก็ตให้ดีขึ้น นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เราต้องยอมรับความจริงว่า เราก็คงไม่สามารถจะปิดประเทศไปได้นานมาก เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความมั่นใจทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวว่าประเทศมีความพร้อม เราก็จะได้ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้ สุดท้ายเราต้องยอมรับและชื่นชมผู้ที่ทำงานดูแลด้านสาธารณสุขที่ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาและเฝ้าระวังจนปลอดภัยของไวรัส โดยเฉพาะในอาเซียน เราเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่ป้องกันได้ดี เราอาจจะใช้ช่องว่างในเวลานี้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งหมดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยวในประเทศ การเอาเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ก็จะเป็นรูปแบบใหม่ที่สร้างความมั่นใจ เมื่อเราเปิดประเทศเราก็ต้องมีการควบคุมและรักษาคุณภาพของเราให้ได้แบบนี้ตลอดไป
“นักท่องเที่ยวจากจีนอยากมาไทยจำนวนมาก แต่เขาคอยให้เราเปิดประเทศ และก็คอยในความพร้อมของเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งวันนี้เรามีความพร้อมแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่นโยบายของรัฐและรัฐบาลได้พูดคุยกันและเปิดโอกาสให้เข้ามา ผมคิดว่าไทยอาจจะเป็นประเทศแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวจากจีนตัดสินใจมา ปริมาณการใช้งานท่าต่างๆ ในภูเก็ตก็จะเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียนแน่นอนในระยะเวลาอันใกล้นี้” รมว.ดิจิตัล กล่าว
เมื่อถามว่า ที่ท่าเรืออ่าวปอ เป็นแห่งเดียวที่จะมีการใช้ระบบนี้หรือไม่ รมว.ดิจิตัล กล่าวว่า เนื่องจากว่าที่นี่มีความพร้อมในเรื่องของเอกชนที่ร่วมมือกับดีป้าเป็นที่แรก แต่เวลาเราเปิดประเทศคงไม่สามารถจะระบุได้ว่ามีที่นี่ที่เดียว เพราะนักท่องเที่ยวก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นเรือทั้ง 5-6 ท่าที่ใช้เป็นปกติ ฉะนั้นรัฐบาลนอกจากได้ความร่วมมือจากเอกชนแล้ว ก็มีนโยบายที่จะใช้ริสต์แบนด์ในการติดตามตัว เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ทุกท่าเรือก็จะมีมาตรการของรัฐบาลที่จะร่วมมือกับเอกชนและหน่วยงานอื่นให้ครบวงจร