ครูรายหนึ่งโพสต์เล่าเรื่องราวความยากลำบากของคนในชนบท ทั้งห่างไกลจากความเจริญ ระบบขนส่งสาธารณะ การบริการด้านสาธารณสุข ย้ำไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างในโฆษณา
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. เพจ “วันนั้นเมื่อฉันสอน” โพสต์ตีแผ่เรื่องราวความยากลำบากของครูในชนบทที่ห่างไกลจากความเจริญ ทั้งในเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะ การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา ถนนหนทาง โดยเล่าว่า
“ชีวิตในชนบทไม่ได้สวยงามแบบในโฆษณาใครที่ว่ามันเรียบง่าย สุขสบาย อยากให้มาลองอยู่ มาใช้ชีวิตในบริเวณที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว มาสัมผัสชีวิตที่ไม่มีร้านข้าว ไม่มีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ไม่มีขนส่งสาธารณะ จะไปไหนต้องเหมารถเพื่อนบ้านไปส่ง หรือต่อให้มีรถส่วนตัวก็ต้องมาเจอถนนเฮงซวยแบบนี้
เมื่อไม่มีขนส่งสาธารณะ เด็กหลายคนก็ต้องขับมอเตอร์ไซค์กันตั้งแต่ ป.5 โดยไม่มีใบขับขี่เพื่อไปโรงเรียน ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงบนท้องถนน และทำผิดกฎหมาย บางบ้านที่มีหลายคนต้องต่อซาเล้งพ่วงข้างเพื่อทำเป็นรถโดยสารรับส่งไว้ขนคนแก่และลูกหลานยามเจ็บไข้ได้ป่วย
เพราะขนส่งสาธารณะไม่มีอยู่ บวกกับถนนหนทางที่บัดซบทำให้มีคนเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล เด็กบางคนที่โดนหมากัดไม่สามารถไปฉีดยาได้ เพราะโรงพยาบาลอยู่ห่างออกไป 20 กิโลเมตร ไม่มีขนส่งใดๆ ผ่าน แม้จะฉีดยาฟรี แต่ราคาของการไปรับการรักษานั้นแสนแพง การเดินทางเมื่อไม่มีรถไปมีวิธีเดียวคือเหมารถ และค่ารถมันครั้งละ 500 บาท ต้องไปฉีดติดต่อกัน 4 เข็ม เขาจะหาเงินมาจากไหน ดังนั้น การลุ้นเอาว่ามันจะหายเอง ลุ้นว่ามันจะไม่เป็นไรจึงง่ายกว่า เกิดเป็นคนจนมันจึงต้องเสี่ยงกันหน่อย รอดก็มีชีวิตอยู่พลาดก็ตายๆ ไป
เมื่อคุณจน จึงไม่มีสิทธิ์เจ็บป่วย เพราะถ้าป่วยก็เท่ากับถูกปล่อยให้ตาย มีเรื่องมีราวมีคดีความจะไปแจ้งตำรวจก็ไกล เรื่องเล็กน้อยก็ต้องปล่อยผ่าน ทุกอย่างจึงอยู่กันตามมีตามเกิด ด้วยเหตุนี้แต่ละบ้านจึงต้องทำงานหาเงินเพื่อออกมอเตอร์ไซค์ เพราะไม่อย่างนั้นไปไหนไม่ได้ เงินที่ควรจะได้เอาไปพัฒนาคุณภาพชีวิตส่วนอื่นก็ต้องมาหมดไปกับการขนส่งและการซ่อมบำรุงจากถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ
กลางคืนถนนหนทางมืดสนิท ผู้หญิงอย่าหวังจะกล้าขับ หน้าฝนถนนมีโคลนสาดเต็มกระจกหน้า ขับรถสวนกันก็ต้องหยุดให้รถเล็กไปก่อนเพราะน้ำจะกระเซ็นใส่ หน้าร้อนหน้าหนาว ฝุ่นบนถนนก็คละคลุ้งจนมองไม่เห็นทาง รถมอเตอร์ไซค์ที่ขับตามหลังรถใหญ่ไปต่อไม่ได้ ฝุ่นเข้าตาและต้องสูดไปเต็มปอด ชีวิตแบบนี้หรือที่บอกว่ามันมีความสุข
ถนนเส้นนี้เชื่อมต่อโรงเรียน 3 แห่ง พังแล้วพังอีกเป็นปีๆ โดยไม่มีทางการเห็นหัว แล้วอยากถามว่าเมื่อเป็นแบบนี้ใครจะอยากส่งลูกมาเรียน โรงเรียนที่ถนนหนทางพังๆ บ้าง ทำไมการมีถนนดีๆ ใช้งานจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเรา ผิดเหรอที่คนบ้านนอกอย่างเราอยากมีชีวิตที่ขึ้น ผิดเหรอที่บ้านเราอยู่ตรงนี้ ทำไมมันจึงต้องเป็นการรออย่างไม่มีจุดหมาย หรือเราไม่สมควรได้รับมัน ไม่สมควรได้มีชีวิตที่ดี”
ชีวิตในชนบทไม่ได้สวยงามแบบในโฆษณา
.
ใครที่ว่ามันเรียบง่าย สุขสบายอยากให้มาลองอยู่...โพสต์โดย วันนั้นเมื่อฉันสอน เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2020