อาจารย์อาวุโสภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาฯ ชี้ อัตลักษณ์ใหม่ที่ใช้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตราพระเกี้ยวปรับใหม่ขาดความชัดเจน แถมแบบอักษรใช้ของฟรีจากฝรั่ง ชี้ขาดความรู้ความสามารถทางด้านดีไซน์ชัดเจน
วันนี้ (10 ต.ค.) ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ อาจารย์อาวุโส ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Soamparnee Srisuvan ระบุว่า “สวัสดีค่ะเพื่อนๆ และพี่น้องจุฬาฯทุกท่าน วันนี้ขอระดมความคิดเห็นจากทุกท่านเรื่องอัตลักษณ์ใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศใช้อัตลักษณ์ใหม่ อันประกอบด้วย ตราสัญลักษณ์ ตัวอักษร และการใช้งาน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ที่ผ่านมานี้
ในฐานะที่เป็นผู้สอนวิชาที่ว่าด้วยการออกแบบตราสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ (Corporate Identity Design) และการใช้ตัวอักษร (Typographic Design) มากว่า 30 ปี มีลูกศิษย์มากกว่า 30 รุ่น จึงได้รับคำถามต่างๆ นานา เรื่องอัตลักษณ์ใหม่นี้มาอย่างมากมายจากบรรดาศิษย์เก่าและเพื่อนๆ พี่น้องจุฬาฯมาแทบทุกวัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่สบายใจจนต้องนำมาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
จึงพบว่า อัตลักษณ์ใหม่ของจุฬาฯนั้น ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 คือ ตราสัญลักษณ์พระเกี้ยวที่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้มีลักษณะที่เรียบง่ายขึ้นจนขาดความชัดเจนของความหมายที่ควรจะมีในส่วนที่ 2 คือ รูปแบบและการใช้ตัวอักษร พบว่า ได้มีการนำฟอนต์ชื่อ eboracum ซึ่งเป็นฟอนต์ที่ให้ download ฟรีมาจากเวบไซต์ต่างๆ เช่น www.dafont.com, www.1001freefonts.com, www.wfonts.com, www.fontmeme.com เป็นต้น เป็นฟอนต์ที่ออกแบบโดยนักออกแบบชาวอังกฤษชื่อ Pilaster Davy
ตราสัญลักษณ์ใหม่ของจุฬาฯ นี้ ได้นำฟอนต์ eboracum มาใช้ในคำว่า Chula และ Chulalongkorn University ตลอดจนใช้ร่วมกับชื่อคณะและส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยในส่วนของภาษาอังกฤษ แต่ภาษาไทยใช้ฟอนต์ Chulalongkorn ที่ออกแบบขึ้นมาเฉพาะสำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2558 โดย นายเอกลักษณ์ เพียรพนาเวช (TypeK)
ในการนี้จึงได้หารือกับ นายกฤษณะ ธนะธนิต (G49) ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Corporate Identity Design ที่ได้รับรางวัลระดับชาติและต่างประเทศมามากมาย และนายเอกลักษณ์ เพียรพนาเวช (TypeK) ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัวอักษร Typographic Design และ ผศ.พงศกร ยิ้มสวัสดิ์ จากสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลายประดับไทย มาร่วมกันวิเคราะห์รูปแบบตราสัญลักษณ์ใหม่และตัวอักษร ซึ่งสรุปได้ความเห็นดังภาพต่อไปนี้
สรุปได้ว่า ผู้ออกแบบขาดความรู้ความสามารถทางด้าน Design ไม่เห็นคุณค่าของศาสตร์การออกแบบตราสัญลักษณ์และตัวอักษร ทำให้งานอัตลักษณ์ใหม่ของจุฬาฯ นั้นไม่เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวจุฬาฯ และเกิดคำถามมากมาย เช่น ทำไมเอาฟอนต์ของคนอื่นมาอ้างอิงเป็นอัตลักษณ์ของจุฬาฯ? พวกเราทุกคนคงอยากให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ด้านการออกแบบให้เรา ทำให้เรามีความรักความเข้าใจในศาสตร์การออกแบบอย่างถ่องแท้ มีจริยธรรมและจรรยาบรรณในงานวิชาชีพที่จะไม่ยอมสร้างความเสื่อมเสียใดๆให้กับตนเองและสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งแห่งนี้โดยการลอกแบบแทนการออกแบบโดยเด็ดขาด