จุดเริ่มต้นจากความศรัทธา ความรักในผืนแผ่นดินเกิด จึงอยากจะอนุรักษ์ไว้ให้คงเดิม รวมถึงพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น เธอใช้วิถีชีวิตชาวสวนตามแบบบรรพบุรุษ ควบคู่กับการใช้ชีวิตในเมืองหลวงได้โดยไม่ขัดแย้งกัน
และมากกว่าความภูมิใจคือการที่ลูกชายได้เข้ามาสานต่อสิ่งที่แม่ได้ทำไว้ นั่นก็คือ การต่อยอดเป็นคาเฟ่สุดชิค ที่ไม่ได้ทำลายสวนเลยแม้แต่น้อย แถมยังนำผลิตผลจากสวนมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดรายได้ได้อีกด้วย
คุยกับ เอ๋-พรทิพย์ เทียนทรัพย์ เจ้าของภูมิใจการ์เด้น สวนที่ความโดดเด่นด้วยต้นลิ้นจี่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี
หลงรักวิถีชาวสวนเป็นทุนเดิม
ดั้งเดิมเราเป็นลูกหลานชาวสวนอยู่ริมคลองบางขุนเทียน ซึ่งสมัยก่อนเขตจอมทองของเราย่านนี้จะเรียกกันติดปากว่า“สวนบางขุนเทียน”
ชีวิตชาวสวนก็ทั่ว ๆ ไป คือ ใช้ชีวิตอยู่ในสวน วิถีริมน้ำ เรียบ ๆ ง่าย ๆ ตั้งแต่อดีตมาแล้วอยู่ตรงนี้ต่อเนื่องกันมากว่าร้อยปีแล้ว ซึ่งเราติดย่านนี้ อยากอยู่ตรงนี้ ก็เลยมีความคิดที่อยากจะพัฒนาสวนของเราให้อยู่คู่กับเราไปนาน ๆ
คำว่าทำสวนไม่ใช่ว่าทำสวนเพื่อว่าผลิตอะไรออกไปขายเหมือนโบราณเราอยากจะใช้ชีวิตเหมือนสมัยก่อน คือ ผัก ผลไม้
หรือว่าอะไรเราก็ไปเอาจากในสวนเรา เรามองว่าวิถีในสวนมันเรียบง่าย อย่างการปลูกอะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะปลูกแล้วกิน กินแล้วปลูก
ส่วนตัวแล้วเราไม่ได้เป็นเกษตรกร เราเองเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งเพิ่งจะลาออกมาได้ 3-4 เดือนเท่านั้นเอง แต่เพราะด้วยความรักที่จะอยู่ในสวน เราจึงค่อย ๆ ปลูกสิ่งนั้นสิ่งนี้ ปลูกเพื่อกิน ปลูกเพื่อใช้ ปลูกเพื่อสวยงาม ปลูกเพื่อความรักของเราเอง
สวนเราเป็นสวนโบราณร้อยปี เราต้องเก็บความภาคภูมิใจไว้อย่างนี้ ไว้ให้ลูกหลานได้ดู เราทำจากความรัก แล้วเราก็อยากจะถ่ายทอดให้กับลูก เพื่อลูกจะได้เห็นคุณค่าภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้พื้นที่สีเขียวก็หายาก แล้ววิถีที่เป็นวิถีชาวไทยโบราณชาวสวนเนี่ยมันก็เลือนหายไปแล้ว แต่มันยังอยู่ในจิตวิญญาณของเรา ซึ่งหากเราพูดอย่างเดียวมันไม่เห็นผล เราต้องทำด้วย จนมาวันหนึ่งคนข้างนอกเริ่มเห็นคุณค่าของเรา เราก็เลยเริ่มสู่โลกที่กว้างขึ้น
ภูมิใจการ์เด้นสวนลิ้นจี่ร้อยปี
ภูมิใจการ์เด้นจริง ๆ แล้วเกิดจากการที่เราทำสวนของตัวเองก่อน หลังจากนั้นก็ได้ซื้อสวนของญาติ ๆ กลับมา
แปลงไหนที่พอจะซื้อได้ ก็เก็บรวบรวมหลาย ๆ แปลง อย่างของคุณทวดคนนั้น คุณทวดคนนี้ ที่ดินเขาตกไปเป็นของคนอื่นแล้ว
แล้วเราก็ซื้อกลับเข้ามา
อย่างในละแวกบ้านเราสวนได้เปลี่ยนมือ เปลี่ยนลักษณะจากสวน กลายเป็นชุมชน ถ้าไม่เป็นชุมชนคนอื่นก็จะขายไปเป็นหมู่บ้านจัดสรร ไปเป็นตลาด วิถีเปลี่ยนไปเลย ซึ่งถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนั้น เราจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เราอยากอยู่ตรงนี้ เราก็เลยซื้อที่ดินของคนอื่นด้วย รวบรวมทีละเล็ก ทีละน้อย ต่อเนื่องหลายปี จนถึงวันนี้ก็ประมาณ 14 ปี เลยจะต้องตั้งชื่อเพราะที่ดินไม่ได้ติดกัน เลยเป็นที่มาของ “ภูมิใจการ์เด้น” ค่ะ
จุดเด่นของสวนคือ ต้นลิ้นจี่กว่า 100 ปี
ถ้าตามหลักฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 เราได้โฉนดที่ดินมาครั้งแรก ซึ่งบรรพบุรุษเรามีมาร้อยกว่าปีแล้ว ปัจจุบันถ้าคุณทวดยังอยู่ก็จะมีอายุ 130 ปี ซึ่งคุณทวดบอกว่าเกิดทันรัชกาลที่ 5 ลิ้นจี่ก็มีมาแล้ว ทวดบอกทวดก็ไม่ได้ปลูก บรรพบุรุษปลูกมาให้ ซึ่งเห็นมาถึงรุ่นเรา เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีความรู้สึกว่า เราได้สิ่งที่มหัศจรรย์เลยนะ ลิ้นจี่ร้อยกว่าปีเลย
ลิ้นจี่พันธุ์ที่โดดเด่นที่สุดของที่นี่จะเป็นพันธุ์กะโหลกใบยาว ซึ่งจะเนื้อแห้งมีรสชาติหวาน ไม่มีรสฝาดเลย ซึ่งเราได้ขอขึ้นทะเบียนGI เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี พ.ศ. 2560
การปลูกลิ้นจี่ของเราไม่ได้ปลูกเพื่อเป็นการค้าหรืออะไร คือก็อยากให้มันออกลูกออกดอกแหละ แต่ถ้าไม่ออกก็ไม่เป็นไร
เหมือนเราได้เก็บไว้เป็นมรดก เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ให้ลูกหลานได้ดู อย่างต้นลิ้นจี่โบราณร้อยปีของเราก็ได้อยู่ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้วย
นอกจากนี้แล้วเรายังมีการขยายพันธุ์ ลิ้นจี่ในสวนก็จะมีตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป 70 ปีก็มี หรือที่ปลูกเองด้วย ซึ่งเราก็จะอนุรักษ์ฟื้นฟูต่อยอดด้วย
ต่อยอดเป็น NATURA GARDEN CAFÉ
คาเฟ่เป็นการต่อยอดของลูกชายค่ะ คือต้องเล่าโยงไปที่สวนก่อนว่า สวนนี้ถ้าทำไปแล้วลูกไม่เห็นคุณค่าถือว่าเราล้มเหลวนะ
แต่ตอนนี้ลูกกลับมารู้คุณค่าในสิ่งที่แม่ทำมาตลอดเรื่องการอนุรักษ์สวน ตอนนี้เขามาต่อยอดเป็นคาเฟ่ได้ สามารถสร้างรายได้ได้
โดยเป้าหมายหลักเราคือ การอนุรักษ์สวนโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งคาเฟ่ไม่ได้ทำลายสวน แต่กลับเพิ่มมูลค่าของสวนด้วย อย่างเช่นการออกแบบได้เอาไม่ไผ่ที่เป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมเลย กลับทำให้คนมารู้สึกอย่างเอาเป็นตัวอย่าง
นี่จึงเป็นการตอบโจทย์เรื่องที่ว่าการที่มีสวนแล้วเราจะหารายได้จากสวนไม่ได้
นอกจากนี้เรายังสามารถเอาผลผลิตจากในสวนของที่เราปลูกแล้วกิน กินแล้วปลูก ซึ่งเราอยากถ่ายทอดเรื่องวิถีความเป็นอยู่ของคนไทยชาวสวนด้วย ซึ่งชาวสวนบ้านเราทำอาหารกันอร่อย ฉะนั้นเราก็เลยเอาสิ่งอร่อย เอาของในสวน
อย่างเช่นตอนนี้เด่น ๆ ของเรา เป็นซิกเนเจอร์เลยก็คือ “ตะลิงปลิง” ซึ่งตะลิงปลิงจริง ๆ เป็นผลไม้ที่คนมองข้าม รสเปรี้ยว อย่างมากก็เอาไปจิ้มเกลือ จิ้มกะปิ แกงอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ของเราเราสามารถเอามาเพิ่มมูลค่า โดยการที่เอาไปแปรรูป เช่น เอาไปทำเป็นน้ำตะลิงปลิงโซดา เป็นเค้กตะลิงปลิง เมี่ยงตะลิงปลิง แกงคั่วขาวตะลิงปลิง ฯลฯ เป็นต้น
ทำงานรัก งานถนัด สังคมได้ประโยชน์
เพราะเรารักและศรัทธาในผืนแผ่นดินเกิดก็เลยทำไปเรื่อย ๆ ยิ่งทำงานรักเรายิ่งสนุก งานรักแล้วเราถนัดด้วย เพราะเราเห็นพ่อแม่เราทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ซึ่งเราทำงานรัก งานถนัดแล้วสังคมก็ได้ประโยชน์ด้วย อย่างการที่เราปลูกต้นไม้ สังคมได้ประโยชน์จากเราโดยตรงเลยนะ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ขาย แต่ต้นไม้เราสามารถผลิตออกซิเจน สร้างสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังทำให้ตรงย่านของเราชุ่มชื้นเรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องลำคลอง เรื่องความปลอดภัยอีก อย่างคนที่เคยเดินจากที่ดินที่ไม่ได้พฒนาซึ่งเป็นแหล่งเสื่อมโทรมก็น่ากลัวอยู่นะ แต่ปัจจุบันแขกไปใครมากันครึกครื้น อันนี้มันก็เป็นการพัฒนาชุมชนไปในกลาย ๆ แล้ว แล้วแถมเรามีกิจการ มีคาเฟ่เราก็สามารถกระจายรายได้ไปยังชุมชนได้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เรือที่เขาเคยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยว เราก็เปิดท่าเรือของเราให้เขามารับแขกจากบ้านเราไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในละแวกนี้ หรืออย่างขนมชุมชนบางประทุนเขาเก่งมาก ทำขนมอร่อย เราก็ไปรับจากเขามาขาย
หรืออย่างเพื่อนบ้านก็จะทำข้าวเหนียว ทำกระท้อนทรงเครื่องมาขาย เด็ก ๆ น้อง ๆ คนที่อยู่ในชุมชนก็มาช่วยรับรถ เป็นต้น
พอทำไปแล้ว เราก็มานึกถึงว่า อ๋อ อิคิไก (IKIGAI) ของญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้เองนะทำสิ่งที่รัก ทำงานถนัด สังคมได้ประโยชน์
แล้วเราก็สร้างรายได้ได้ด้วย
หวังเป็นจุดเล็ก ๆ ในการสร้างแรงบันดาลใจ
คนที่มาหาเรา มาชื่นชมเราในสิ่งที่เราทำ เราแชร์ออกไป แขกที่มาสวนเราไม่ใช่แค่มาดื่มกาแฟ แต่แขกอีกกลุ่มหนึ่งเขายังมาหาแรงบันดาลใจเพื่อที่จะไปพัฒนาของ ๆ เขาเอง
เราคิดว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำ เราจะสามารถจุดประกายให้กับคนอื่นได้ เป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นได้ แต่เราไม่ได้หวังใหญ่โตว่าเราจะต้องเป็นจุดเด่นอะไร
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
คลิกชมคลิปได้ที่ >>