นับตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีแนวพระราชดำริพระราชทานเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ต่อการจัดการความขัดแย้งคนกับช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี “ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือให้ไปสร้างอาหารช้างในป่า เป็นแปลงเล็กๆ และกระจายกรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า” จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการช่วยเหลือช้างป่า สัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทย ซึ่งเป็นต้นแบบแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง อันเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ช้างสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในป่าธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยดั้งเดิมของสัตว์ป่า และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพระพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ การอนุรักษ์ช้างไทย และการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ดังพระราชเสาวนีย์ที่ว่า “ให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยเฉพาะชุมชนที่อพยพออกมาจากป่าและชุมชนที่อาศัยติดแนวเขตอนุรักษ์..”
ลุล่วงมาถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชปณิธานล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์ ในการจัดการความขัดแย้งของคนกับช้างป่าเพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความเป็นอยู่อย่างมั่นคงบนพื้นฐานแห่งความพอเพียงมั่นคงสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออกไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งแปลว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” เพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าและช้าง รวมทั้งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การบุกรุกของช้างป่าอันสืบเนื่องมาจากขาดแคลนแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ตลอดจนการขาดความรู้และความเข้าใจของราษฎร ในการขับไล่ช้างอย่างผิดวิธีจนทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวราษฎรและช้างในที่สุด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ
โครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกัน 5 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1,360,000 ไร่ มีช้างป่าอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากกว่า 460 ตัว และจากการสำรวจมีช้างป่าออกนอกเส้นทาง ทำให้เกิดผลกระทบระหว่างคนกับช้างในเรื่องของที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ราษฎรที่ได้รับผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่าในเรื่องของที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ประชาชนจึงได้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรฯ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และทรงดำรงตำแหน่งอัยการคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดระยอง
นายธรรมนูญ เต็มไชย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ เล่าถึงสภาพปัญหาของคนกับช้างป่าในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดว่า พื้นที่ป่าภาคตะวันออกจากที่เคยมีสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้มากกว่า 5 ล้านไร่ แต่เนื่องด้วยสภาพป่าได้รับการแผ่วถางทำให้เกิดพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นจำนวนมากจนทำให้ทุกวันนี้เหลือป่าสภาพสมบูรณ์เพียงแค่ 1,360,000ไร่ ทำให้ป่าขาดความอุดมสมบูรณ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างขาดแหล่งอาหาร จึงพากันเดินออกนอกเส้นทางป่ามาหากินและทำลายพืชผลทางเกษตรของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับชาวบ้านไม่รู้วิธีการขับไล่ช้างอย่างถูกวิธี เมื่อเจอช้างก็จุดประทัดขับไล่ ส่งเสียงดัง ใช้ปืนยิง ทำให้ช้างเกิดอาการตกใจวิ่งหนีเตลิดไปอีกฝั่งและทำร้ายประชาชนที่เดินผ่านมาทำให้เกิดการบาดเจ็บสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินตามมาอันเป็นภาพน่าสลดใจอย่างยิ่ง
ครั้นภาพความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าในพื้นที่ผืนป่ารอยต่อภาค 5 จังหวัดภาคตะวันออกทราบยังฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อภาคตะวันออก จึงทรงมีพระราชดำริในการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าความว่า “ควรจะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างป่า เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพระพันปีหลวง ในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก” และได้พระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ช้างกลับคืนสู่ป่า ด้วยวิธีการฟื้นฟูป่า จัดหาแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร นำร่องเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของช้าง ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ การออมของชุมชน ตลอดจนการสร้างระบบเตือนภัยชุมชนผ่านระบบกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติที่ติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่า อันเป็นการช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดต่อชุมชน อันเป็นการช่วยทั้งคนช่วยทั้งช้าง
จึงได้ดำเนินการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์เริ่มนำร่องฟื้นฟูพื้นที่ป่า แหล่งน้ำแหล่งอาหารสัตว์ป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมาเขาวง จ.ระยอง มีหมู่บ้านนำร่องในการพัฒนาชุมชนโดยสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของช้างส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ การออม และการบริหารจัดการเงินของกองทุนชุมชนเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน รวมทั้งสร้างระบบเตือนภัยชุมชนผ่านระบบกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติที่ติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่าที่มีแนวโน้มเดินออกนอกเส้นทางที่ควรเดิน ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดต่อชุมชน และนำมาใช้วางแผนฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่าต่อไป
นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวแห่งน้ำพระราชฤทัยอันเปี่ยมไพศาล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีเป้าหมายการบูรณาการให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ผืนแผ่นดินไทย ภายใต้ “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร