นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์ โพสต์ข้อความแนะนำพื้นที่ตรงไหนต้องอพยพประชาชนหนีก่อน หลังก๊าซแอมโมเนียโรงงานน้ำแข็งยั่งยืนเขาค้อ ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ รั่วไหล ล่าสุดสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
จากเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนียโรงงานน้ำแข็งยั่งยืนเขาค้อ ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เกิดการรั่วไหลตั้งแต่บ่ายวานนี้ (7 ต.ค.) จนทำให้ทางอำเภอเขาค้อต้องสั่งระดมเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนเข้าไปควบคุมสถานการณ์ และมีการอพยพราษฎรที่อยู่ในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัย ปิดถนนห้ามรถทุกชนิดผ่านจุดเกิดเหตุ พร้อมพยายามฉีดละอองน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่บริเวณโรงงานน้ำแข็งเพื่อไม่ให้ก๊าซฟุ้งกระจาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์กล่าวว่า ภาพรวมถือว่าเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว เพียงแต่จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการสำรวจจุดที่ก๊าซรั่วไหล แต่เบื้องต้นได้สอบถามทางพนักงานโรงงานน้ำแข็งซึ่งพบการรั่วไหลของก๊าซเป็นคนแรกและพยายามจะปิดวาล์วแต่ไม่สำเร็จ คาดการณ์ว่าท่อก๊าซคงจะเก่าทำให้เกิดการชำรุด แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร
อ่านข่าวประกอบ - ยังเอาไม่อยู่! ก๊าซแอมโมเนียโรงน้ำแข็งฯ เขาค้อรั่วข้ามคืนจนถึงเช้าวันนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Anukoon Sorn-ek” หรือ นายอนุกูล สอนเอก นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับหากพบเจอสถานการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ควรจะต้องอพยพประชาชนบริเวณจุดใดบ้าง ในรัศมีเท่าไหร่ โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า
“สามชั่วโมงที่แล้ว สารแอมโมเนีย (สารเคมี) รั่วไหล ไม่สามารถปิดวาล์วได้ และไม่สามารถควบคุมการกระจายของก๊าซได้ บริเวณโรงน้ำแข็งยั่งยืนเขาค้อ ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย มีคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการ ขอ ว.7 ทุกหน่วยงานเข้าควบคุมสถานการณ์ กักกั้นเขตพื้นที่ความปลอดภัย แจ้งประชาชนป้องกันตัวเองห้ามเข้าใกล้ที่เกิดเหตุ เตรียมพร้อมอพยพประชาชนใกล้เคียงออกจากพื้นที่ หากพบรถฉุกเฉินขอความกรุณาหลบหลีกด้วย ทิศทางลมพัดจากตะวันออกไปตะวันตก ความเร็ว 3 กม./ชม. อพยพคนในรัศมี 2-2.5 กม.
พี้นที่เสี่ยงสำหรับบ้านเรือนที่อยู่ในรัศมี 2 กม.จากการรั่วไหลของแอมโมเนียนะครับ ถ้าลมพัดไปทางไหน ให้พื้นที่ใต้ลมเป็นพื้นที่เฝ้าระวังแรกสุด กระแสลมไปทางทิศตะวันตกเป็นหลัก ถ้าไม่มีความแปรปรวนของอากาศจากลักษณะภูมิประเทศ ใช้เป็นแนวทางในการอพยพชาวบ้านนะครับ เน้นพื้นที่สีแดงเป็นหลักในรัศมี 2 กม. ตอนนี้ทิศทางลมพัดไปทางทิศตะวันตกเป็นหลัก มีโอกาสจะพัดไปทางทิศใต้มากขึ้น พื้นที่อันดับแรกที่ต้องอพยพคนในพื้นที่สีแดงทางซ้ายมือ และทางด้านใต้นะครับ ฝากนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้วยครับ พื้นที่สีแดงคือชุมชนที่มีบ้านคนอยู่ ทางทิศตะวันตกของโรงน้ำแข็งเกิน 2.5 กม.จะเป็นพื้นที่ป่าไม่ค่อยมีบ้านคน”
อย่างไรก็ตาม นายอนุกูลได้ระบุเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่ผมประเมินเป็นแบบเบื้องต้นตามหลักการตอบโต้ฉุกเฉิน เพราะข้อมูลจากพื้นที่ ปริมาณสารรั่วไหลยังไม่มีเลย ต้องประเมินแบบเลวร้ายที่สุด ซึ่งมันเหมาะสำหรับการทำงานในขั้นเบื้องต้น โดยใช้เวลาเร็วที่สุด”
ส่วนประเด็นทำไมนักภูมิศาสตร์ถึงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องสารพิษ ทำไมไม่ใช้นักเคมีเพียงอย่างเดียว นายอนุกูลระบุว่า “การทำงานตอบโต้เหตุฉุกเฉินมันต้องใช้สหวิทยาการเข้ามาร่วมกันทำงานครับ multi discipline สารเคมีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันมีสภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ หรือธรรมชาติ เข้ามาเป็นปัจจัยในการแพร่กระจายของสารอันตราย สำหรับการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน มันมีวิธีคิดที่เฉพาะ และการตัดสินใจที่เฉพาะมาก เป้าหมายเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด”
สามชั่งโมงที่แล้ว สารแอมโมเนีย (สารเคมี) รั่วไหล ไม่สามารถปิดวาล์วได้ และไม่สามารถควบคุมการกระจายของก๊าซได้...โพสต์โดย Anukoon Sorn-ek เมื่อ วันพุธที่ 7 ตุลาคม 2020