xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนแห่ชม “ดาวอังคารใกล้โลก” อย่างคึกคัก เมื่อคืน (6 ต.ค.) ก่อนถอยห่างจากโลกหลัง 14 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชาชนแห่ชมดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ บริเวณอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เมื่อคืน (6 ต.ค.) เนืองแน่น จากนั้นจะโคจรอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ วันที่ 14 ต.ค.นี้ อีกทั้งท้องฟ้าเป็นใจให้เห็นดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์อย่างชัดเจน

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เพจเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ได้โพสต์ภาพประชาชนร่วมชมดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดในคือวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งยังพบดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ในช่วงหัวค่ำ โดยดาวอังคารจะโคจรใกล้โลกอีกครั้งในวันที่ 14 ต.ค. 2563 และดาวอังคารจะค่อยๆ ห่างจากโลก โดยทางเพจระบุข้อความว่า

NARIT ตั้งกล้องส่อง ดาวอังคารใกล้โลก ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ชมดาวเคราะห์แดงและวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ เต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ประชาชนแห่ชมคึกคัก เตรียมจัดอีกครั้ง 14 ตุลาคม 2563 คืนดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์

กิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลก ในค่ำคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2563 บริเวณอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ. เชียงใหม่ ท้องฟ้าค่อนข้างเป็นใจ สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ หลังจากนั้น ดาวอังคารโผล่พ้นขอบฟ้าอวดโฉมมาให้ชมกันตั้งแต่ประมาณ 20:00 น. มีประชาชนผู้สนใจพากันต่อแถวชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์และยกโทรศัพท์มือถือถ่ายรูปดาวเคราะห์ผ่านช่องมองภาพ นอกจากนี้ สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ อาทิ ดวงจันทร์ กาแล็กซีแอนโดรเมดา อีกด้วย

สำหรับจุดสังเกตการณ์หลักที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และ สงขลา มีฝนตกในช่วงหัวค่ำ หลังจากนั้น ฟ้าเริ่มเปิดสามารถสังเกตเห็นดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ได้อย่างชัดเจน

หลังจากวันนี้ ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ในวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารสุกสว่างได้ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก จนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป สดร. กำหนดจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารอีกครั้ง ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และ สงขลา จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมสังเกตการณ์ดาวอังคารกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะค่อยๆ ถอยห่างออกจากโลกไป และจะเข้าใกล้โลกอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2565










กำลังโหลดความคิดเห็น