เพจ “Drama-addict” โพสต์ข้อความแนะนำจากจิตแพทย์ เพื่อให้ผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมลูก หรือสอบถามบุตรหลานเมื่อเราสงสัยว่า เด็กอาจถูกทำร้ายหรือทารุณกรรม
จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์คลิปพฤติกรรมของครูประจำชั้นอนุบาล 1 ของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ถนน 345 ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ทำร้ายเด็กนักเรียนในห้องเรียน ทั้งผลักเด็ก จับหัวดึงผม ใช้ไม้กวาดตีเด็ก โขกหัวเด็ก โดยคุณครูคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่มีใครห้าม ซึ่งเมื่อผู้ปกครองหลายคนเห็นคลิป ทำให้สร้างความสะเทือนใจ จากนั้น ทางโรงเรียน ออกหนังสือแถลงการณ์ เผยให้ นางสาวอรอุมา ปลอดโปร่ง หรือ ครูจุ๋ม พ้นสภาพบุคลากรเรียบร้อยแล้ว
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.ย. เพจ “Drama-addict” โพสต์ข้อความจากจิตแพทย์เพื่อให้ผู้ปกครองถามบุตรหลานเมื่อเราสงสัยว่า เด็กอาจถูกทำร้ายหรือทารุณกรรม โดยระบุว่า “1. ให้การพูดคุยกับลูกถึงโรงเรียนนอกเหนือจากการบ้านเป็นเรื่องปกติทุกๆ วัน เช่น วันนี้ลูกเล่นอะไร เล่นกับใคร คุณครู....ใจดีไหม (ควรรู้ชื่อครูที่ต้องมาข้องแวะกับลูก ไปดูหน้าค่าตากันบ้าง) เด็กจะไว้ใจพ่อแม่ว่าเรื่องโรงเรียนก็ไม่ต่างกับในบ้าน ข้อนี้ผลดีนอกจากการ “จับผิด” ยังเพิ่มสัมพันธภาพพ่อแม่ลูกด้วยวันละ 10 นาที ก็ยังดี
2. ใช้คำถามปลายเปิด ชอบ/ไม่ชอบ เรียนอะไร ทำไม ชอบ/ไม่ขอบเล่นกับเพื่อนคนไหน เล่นอะไรบ้าง ชอบครูคนไหน ทำไม ครูพูดอะไร แล้วทำไมไม่ชอบครูคนนี้ ให้ลูก role play คือ แสดงให้ดูไปเลนถ้าเอะใจอะไรแปลกๆ โดยเฉพาะถ้าลูกมีพฤติกรรมการไป ร.ร.เปลี่ยนไป ร้องไห้ไม่อยากไป ปวดหัวตัวร้อนบ่อย มีรายงานจากทางโรงเรียนในทางเปลี่ยนไป (อย่าจับผิดแต่ครู รุ่นพี่ เพื่อนก็ทำได้) จับประเด็นได้แล้วให้ลองเล่น บทบาทสมมติ เหมือนเล่นขายข้าวขายแกง และถ้าผลมันน่าตกใจ เล่นอีกรอบกันนะลูก แล้วอัดคลิปไว้
3. สำรวจข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ดูคราบอ้วก ดูแผลในปาก ดูลิ้นลูก ถ้าเป็นเด็กเล็ก วิธีการแกล้งทารุณที่ง่ายสุด คือ การป้อนข้าวนี่แหละ สังเกตด้วยว่าลูกมีฝันร้าย ฉี่รดที่นอนไหม ถ้าอายุเกิน 4 ขวบ ยังฉี่รดที่นอน โดยเฉพาะนอนกลางวัน (ประเภทคุณแม่ ลูกฉี่รดที่นอนอีกแล้วนะคะ) ให้หาสาเหตุทันที กรณีอายุเกิน 4 ขวบ พาพบจิตแพทย์เด็กก็ได้ค่ะ อันนี้ไม่ใช่ไปล่อหลอกอย่างเดียว แต่อาจมีสาเหตุอื่นแทรก อย่าเพิ่งรีบโทษครูแต่ไปหาสาเหตุร่วมกันดีกว่า
จำไว้ว่า เด็กเล็กๆ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกทำทารุณ เขาเล่าไม่ได้ ที่จดจำก็ปะติดปะต่อ ใช้ภาษาไม่ถูก การสอนให้เขาเล่า แบบเปิด (story telling) นอกจากจะช่วยให้เขาบอกความต้องการ หรือฉอดเป็นแล้ว ยังเพิ่มทักษะให้ลูกด้วย อย่ารอให้มีเรื่องละค่อยมาถาม หัดถามหัดให้ลูกเล่าตั้งแต่ยังไม่มีเรื่อง และหวังว่าจะไม่มีเรื่องเลยจะดีกว่า”
โพสนี้จิตแพทยฝากมา เป็นทริคให้พ่อแม่ทุกคนเก็บไว้ใช้ ว่าเราจะถามลูกยังไง เมื่อเราสงสัยว่า...โพสต์โดย Drama-addict เมื่อ วันเสาร์ที่ 26 กันยายน 2020