อสมท เปิดโครงการ“เต็มใจจาก” ตั้งเป้าลดพนักงาน 700 คน จากทั้งหมด 1,600 คน ด้านกระทรวงการคลัง ยันไม่ได้สั่ง เป็นเรื่องในองค์กรเอง
วันที่ 23 ก.ย. 2563 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) อสมท เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้เปิดโครงการ “เต็มใจจาก” และโครงการสมัครเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลีรีไทร์) โดยตั้งเป้าจะลดจำนวนพนักงานลง 700 คน จากพนักงานทั้งหมดที่มี 1,600 คน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง
“การลดพนักงานดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ อสมท เพราะหากไม่ลดพนักงาน จะทำให้บริษัทไปไม่ไหว และหากพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการ “เต็มใจจาก” ครบตามเป้าหมาย 700 คน ก็ไม่จำเป็นต้องมีโครงการเออร์ลีรีไทร์แล้ว” พล.ต.อ.ทวิชชาติ กล่าว และย้ำว่า “อสมท จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาได้ ในขณะที่ อสมท เองมีความจำเป็นต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ”
สำหรับโครงการ “เต็มใจจาก” นั้น เบื้องต้นที่ประชุมบอร์ด อสมท ให้นโยบายว่า พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่ทำงาน ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด และยังจะได้รับเงินพิเศษเพิ่มอีก โดยขณะนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการชดเชยของโครงการ ทั้งนี้ บอร์ด อสมท ได้อนุมัติวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท
“เงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่จะนำมาจ่ายชดเชยพนักงานจะมาจากเงินกู้จากแบงก์ ซึ่งหลักทรัพย์ที่เราจะนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ คือ เงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ที่ กสทช.จะจ่ายให้เราเป็นงวดๆ แต่หากไม่เพียงพอก็จะใช้ที่ดินที่ อสมท มีอยู่ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยแบงก์จะจ่ายตามจำนวนที่เราจ่ายจริง และขอยืนยันว่า การเข้าร่วมโครงการจะเป็นไปตามความสมัครใจของพนักงาน ไม่มีการบังคับ และไม่มีการจิ้มออกอย่างแน่นอน” พล.ต.อ.ทวิชชาติ กล่าว
โดยหลังจากนั้น มีรายงานจากแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง ว่า กระทรวงการคลังไม่เคยมีคำสั่งให้ อสมท ลดพนักงาน ถือเป็นเรื่องภายในขององค์กรเอง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงปรับแผนธุรกิจ เพื่อลดรายจ่ายค่าจ้างพนักงาน ให้สอดคล้องกับรายได้ ที่สำคัญปัจจุบัน อสมท ยังไม่เคยยื่นปรับแผนธุรกิจมาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สศร.) พิจารณา รวมถึงไม่ได้เป็นองค์กรที่กำลังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการด้วย