1.ม็อบ 19 ก.ย.ตัดโซ่ประตูบุกชุมนุม มธ. ก่อนเคลื่อนยึดสนามหลวง พังรั้วกั้นเข้าพื้นที่ ด้าน “ทักษิณ” โพสต์ 14 ปี 19 ก.ย.คนไทยชีวิตเป็นยังไงบ้าง!
แม้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จะไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดชุมนุม แต่ทางกลุ่มฯ ยืนยันจะชุมนุมใน มธ.นั้น วันนี้ (19 ก.ย.) แนวร่วมได้ทยอยเดินทางเข้าชุมนุมตามเวลาที่มีการรวมพลในเวลา 14.00 น. ขณะที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง เดินไปรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินทางมาทางเรือ และรออยู่ที่หน้าประตูทางเข้า มธ.ด้านท่าพระจันทร์ จากนั้นได้ใช้คีมตัดเหล็กขนาดใหญ่ตัดโซ่ที่คล้องประตู เพื่อเปิดทางให้ผู้ชุมนุมที่มาทางด้านท่าพระจันทร์ เข้าไปยังด้านใน มธ.
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ "ช่อ" แกนนำคณะก้าวหน้า ซึ่งมาร่วมชุมนุม กล่าวว่า มาร่วมชุมนุมในฐานะประชาชน มาเติมเต็มพลังมวลชน และยืนยันว่า วันนี้มามอบกำลังใจให้กับผู้ร่วมชุมนุม เนื่องจากตอนนี้เป็นการต่อสู้ของประชาชน โดยตนได้มาติดตามบรรยากาศการเตรียมความพร้อมการชุมนุมตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา และเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยอมเปิดพื้นที่ให้ชุมนุม โดยอ้างอิงถึงเมื่อเหตุการณ์ตุลฯ ในอดีตก็มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนชุมนุมเช่นเดียวกัน ทำให้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาไม่มีภาพการตัดโซ่หรือพังประตู ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดี และคาดหวังว่าประชาชนจะเป็นพลังที่ไม่มีใครขวางกั้นได้ และรัฐบาลจะฟังประชาชนอย่างคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือไม่
น.ส.พรรณิการ์ ยังอ้างว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐพยายามสกัดกั้นการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นทางเรือที่มีผู้ชุมนุมมาจากท่าน้ำนนท์หรือประชาชนที่เดินทางมาจากภาคเหนือ แต่สุดท้ายก็เดินทางมาได้ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะต้องยอมรับว่านาทีนี้ประชาชนจะไม่ยอมอีกต่อไป ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้แล้วโดยไม่มีอะไรขวางกั้น หากรัฐบาลพยายามขวางมีแต่จะยิ่งพังจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ พร้อมขอให้รับฟังเสียงประชาชน เชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้จะส่งสัญญาณให้รัฐบาลและรัฐสภาในการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ พร้อมย้ำว่า ให้พิจารณาร่างของฝ่ายค้านที่มีการกำหนดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เวลา 15.30 น. แกนนำคณะประชาชนปลดแอกได้ขึ้นรถ 6 ล้อ จำนวน 2 คัน พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังท้องสนามหลวง โดยมวลชนมีการชู 3 นิ้ว และตะโกนขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดเส้นทาง โดยการเข้าพื้นที่สนามหลวง มีการพังรั้วกั้น เมื่อเข้าพื้นที่สนามหลวง ผู้ชุมนุมต่างตะโกนโห่ร้องอย่างไม่ขาดสาย และได้มีการตั้งเวทีปราศรัยของแกนนำ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก พร้อมนำแผงเหล็กมาวางกั้นเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวาย
ด้านนายทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Thaksin Shinawatra” ในวันนี้ (19 ก.ย.) ระบุรายละเอียดข้อความว่า “19 กันยายน 2563 วันนี้เป็นวันครบรอบ 14 ปีของรัฐประหาร ขณะผมมาประชุมสหประชาชาติ 19 ก.ย. 2549 ผมขอฝากคำถามเดียวครับว่า 14 ปีมานี้ ชีวิตคนไทยโดยรวมๆ เป็นไงบ้าง ประเทศไทยในสายตาโลกเป็นไงบ้าง เด็กๆ ที่อายุระหว่าง 20 ถึง 30 ในปัจจุบัน 14 ปีที่แล้วเขาได้ยินได้เห็นพ่อแม่เขาคุยกันว่าเขากำลังมีงาน/มีธุรกิจ มีรถ มีบ้าน แต่วันนี้เขาได้ยินว่าเขากำลังตกงาน/ธุรกิจอยู่ไม่ได้ กำลังเสียรถ เสียบ้าน และตัวเขายังมองไม่เห็นอนาคตตัวเองถึงจะมีการศึกษาที่ดี เพราะวิธีคิดของเรากำลังถูกเอาเปรียบโดยทุนนิยมโลกที่เรารู้ไม่เท่าทัน เราล้าสมัยในหลายด้าน
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะปรับวิธีคิดใหม่ ทั้งฝ่ายบริหารบ้านเมืองและการเมือง เพราะที่ผ่านมา 14 ปีแล้ว เราไม่ทันโลกจริงๆ มีแต่ถูกเอาเปรียบ โลกไม่เหมือนเดิม คิดแบบเดิมไม่ได้ นโยบายที่เคยใช้ได้ในอดีตปัจจุบันยิ่งใช้ยิ่งแย่ โดยเฉพาะโลกหลังโควิดจะเป็นโลกที่เห็นแก่ตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อนที่แสนดีจะหายากขึ้น ผมหมายถึงการเมืองระหว่างประเทศ ถึงแม้ผมไม่ได้ถือ passport ไทย แต่ผมตระหนักตลอดเวลาว่า ผมเป็นคนไทย รักคนไทย รักผืนแผ่นดินไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทักษิณ ชินวัตร”
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ถึงการเตรียมพร้อมรับมือการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.ว่า ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลในภาพรวม ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ทำงานตามหน้าที่ของตัวเองไป เน้นย้ำเพียงว่า ขอให้ปฏิบัติด้วยความนุ่มนวล เพราะเป็นเด็ก เป็นลูกหลานทั้งสิ้น ฉะนั้นในส่วนตรงนี้ขอร้องว่า อะไรไม่ควร ไม่ถูก สถานที่ราชการต่างๆ เหล่านี้ มีกติกากฎหมายอยู่แล้ว ไม่ควรปฏิบัติให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างกัน ได้ย้ำเจ้าหน้าที่ขอให้ระมัดระวังที่สุด เพราะอาจมีหลายคนหลายฝ่ายพยายามให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เพื่อนำไปสุ่ความบานปลาย รัฐบาลจำเป็นต้องไม่ให้เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับผู้ชุมนุมด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า “ผมไม่ได้ขู่ใคร แต่ประเทศชาติอยู่ด้วยกฎหมาย อยู่ด้วยหลักการและเหตุผลของกฎหมายแต่ละฉบับ ฉะนั้นถ้าทุกคนตั้งใจจะฝ่าฝืนกฎหมาย คนอื่นคนทั้งประเทศเขาจะยินยอมหรือไม่ เพราะจะเกิดผลกระทบกับคนอื่นด้วย ผมไม่ได้ไปขัดแย้งกับท่าน ท่านจะชุมนุมอ้างตามรัฐธรรมนูญก็อ้างไป แต่ในส่วนที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหายเดือดร้อน ขอให้มีจิตสำนึกตัวเองด้วย เพราะท่านคือคนไทย หากประเทศไทยเกิดปัญหาขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจมีปัญหา คนต้องร่วมกันรับผิดชอบ คงไม่ใช่นายกฯ หรือรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว ฉะนั้นขอให้เข้าใจหลักการและเหตุผลนี้ด้วย”
2.ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบให้ "การบินไทย" ฟื้นฟูกิจการ พร้อมเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน!
เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 ศาลล้มละลายกลางได้นัดฟังคำสั่งคดีฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัท การบินไทย ได้นำเสนอข้อมูลตามที่ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องมาแล้ว 2 ครั้ง
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ คำคัดค้าน และพยานหลักฐานในสำนวนคดีแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณางบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2563 และวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ซึ่งงบแสดงฐานะทางการเงินได้ตรวจสอบและสอบทานตามมาตรฐานการบัญชีโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว
ประกอบกับสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินของลูกหนี้บางรายการมิได้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่สามารถยึด หรือบังคับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ เป็นเพียงการบันทึกตามมาตรฐานทางบัญชีเท่านั้น นอกจากนั้น ปัจจุบันลูกหนี้มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระ โดยลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้ ในเรื่องนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีก็ไม่ได้นำสืบเป็นอย่างอื่น ลูกหนี้จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ โดยเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
นอกจากนี้คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ ลูกหนี้มีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน ฯลฯ
อีกทั้งลูกหนี้ยังมีหนังสือสนับสนุนการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและไม่ประสงค์คัดค้านคณะผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอมา แสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ลูกหนี้ได้เจรจาประนอมหนี้เรื่อยมาและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ทำให้ข้อกล่าวอ้างของลูกหนี้มีน้ำหนัก
ดังนั้น หากได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการของลูกหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้สอดคล้องต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดในอนาคตตามความเหมาะสมภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ลูกหนี้ย่อมมีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไป และมีรายได้สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมในจำนวนที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างน้อยจะไม่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการคงสภาพกิจการของลูกหนี้ไว้ ทั้งสามารถรักษาการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งเป็น ประโยชน์มากกว่าการปล่อยให้กิจการของลูกหนี้ต้องล้มละลาย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริตหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้ตามกำหนดได้ ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอได้ตามกฎหมาย ทั้งเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดให้รับฟังได้ว่า ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยไม่สุจริต
ศาลล้มละลายกลางจึงมีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย เข้าสู่กระบวนการให้ฟื้นฟูกิจการตามที่ได้มีการร้องขอ นอกจากนี้ยังได้เห็นสมควรให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรทแอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมถึงกรรมการบริษัทอีก 6 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามที่การบินไทยเสนอ
ในส่วนของเจ้าหนี้นั้น กรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้ทุกราย โดยเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เพื่อไม่ให้เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้คืน โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้มีกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่มีการประกาศคำสั่งตั้งผู้ทำแผนลงในราชกิจจานุเบกษา
3.ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “เทพไท” หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หลังรับวินิจฉัยพ้นสภาพ ส.ส.หรือไม่ กรณีถูกศาลนครศรีฯ สั่งจำคุก 2 ปี!
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ กกต.ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(4) และมาตรา 96(2) หรือไม่ จากกรณีเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2563 นายเทพไท ต้องคำพิพากษาศาล จ.นครศรีธรรมราช ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา จากกรณีร่วมกระทำผิดทุจริตเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ กกต.ทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้นายเทพไท ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับสำเนาคำร้อง
และเมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏชัดเจนว่า ศาล จ.นครศรีธรรมราช ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องแล้ว จึงมีคำสั่งให้นายเทพไทหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
สำหรับกรณีที่ กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีนี้ เป็นกรณีที่เกิดข้อถกเถียงว่าการที่ศาลนครศรีธรรมราช ซึ่งยังเป็นเพียงศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปีนั้น คำพิพากษาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นจะถือว่ามีผลให้ทำให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) กำหนดลักษณะต้องห้ามว่า บุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และลักษณะดังกล่าวเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง
4.“ในหลวง” โปรดเกล้าฯ “บิ๊กแดง-ณรัชต์” เป็นรองเลขาธิการพระราชวัง ตั้งแต่ 30 ก.ย.นี้!
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. มีความสั่งสำนักพระราชวังที่ 182/2563 ทรงพระกรุณาโปรดกล่าวพระราชทานพระบรมราชานุมัติรับโอนข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนสามัญมาบรรจุเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษเฉพาะราย จำนวน 2 ราย
โดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 6 มาตรา 14 มาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ 2560 ข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 15 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการบริหารข้าราชบริพารในพระองค์ 2560 ข้อ 11 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยการบริหารค่าราชบริพาร ในพระองค์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2563 ข้อ 29 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยรถราชการและค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง 2560 และข้อ 4 แห่งระเบียบส่วนราชการในพระองค์ว่าด้วยรถราชการและค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งแก้ไขเพิ่มเติม 2563
จึงให้รับโอนข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนสามัญมาบรรจุเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษเฉพาะราย จำนวน 2 ราย คือ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองเลขาธิการพระราชวังระดับ 11 พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นรองเลขาธิการพระราชวังระดับ 11 ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ลงชื่อ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง
อนึ่ง ทั้ง พลเอก อภิรัชต์ และ พันตำรวจเอก ณรัชต์ เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 20 ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายนนี้พร้อมกัน
5.“บรรยิน” ขอถอนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ คดีฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา อ้างขาดสติยั้งคิด!
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดสืบพยานคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาอดีตเจ้าของสำนวนโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 56 ปี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายมานัส ทับทิม, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, นายชาติชาย เมณฑ์กูล, นายประชาวิทย์ หรือตูน ศรีทองสุข และ ด.ต.ธงชัย หรือ สจ.อ๊อด วจีสัจจะ ทั้งหมดภูมิลำเนาอยู่ จ.นครสวรรค์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิด 9 ข้อหา ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ฯลฯ
ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 นายบรรยินได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เป็นให้การรับสารภาพ ตามคำให้การฉบับลงวันที่ 19 ส.ค. 2563 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อเหตุในคดีนี้จริง จำเลยที่ 1 รับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ติดตามตัวนายวีรชัยและ น.ส.พนิดาในช่วงวันที่ 7, 8, 12, 13, 14, 15, 16, 17 และ 20 ม.ค.2563 จริง และรับว่า ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 คุมตัวนายวีรชัยจากหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยจำเลยที่ 1 แต่งกายชุดตำรวจและเป็นผู้ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นสปอร์ตไรเดอร์คันเกิดเหตุจริง และได้จัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น น้ำมัน ยางรถยนต์ สังกะสี อิฐบล็อก เพื่อไปใช้เผาทำลายศพนายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ โดยนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปไว้ยังจุดเกิดเหตุที่เผาศพนายวีรชัย ที่บริเวณเขาใบไม้ อำเภอตาคลี จ.นครสวรรค์
นายบรรยินให้การว่า ต้องการจับตัวนายวีรชัยมาเพื่อบังคับ ขู่เข็ญและต่อรองคดีกับ น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ โจทก์ร่วมในคดีนี้ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีโอนหุุ้นนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หากการต่อรองและบังคับขู่เข็ญ น.ส.พนิดาไม่สำเร็จผล โดย น.ส.พนิดาไม่ทำตามข้อเรียกร้อง จำเลยที่ 1 อาจต้องฆ่านายวีรชัยและเผาทำลายศพ
นายบรรยินยังให้การอีกว่า ระหว่างคุมตัวนายวีรชัยอยู่ในรถ นายวีรชัยขัดขืน จำเลยที่ 3 ได้หันไปชกต่อยนายวีรชัยถึงแก่ความตาย ทั้งที่การต่อรองกับ น.ส.พนิดา ยังไม่บรรลุผลตามข้อเรียกร้อง "จำเลยที่ 1 ขอให้การรับสารภาพว่า ร่วมกับจำเลยที่ 3 นำศพนายวีรชัยไปทำการเผาเพื่อทำลาย ตามที่โจทก์ฟ้องจริง และขอให้การรับว่า ร่วมกับจำเลยที่ 3 นำเถ้ากระดูก สังกะสี เศษยางรถยนต์ อิฐบล็อก ไปทิ้งตามจุดต่างๆ จริง ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้นำโทรศัพท์ กระเป๋าสตางค์ของนายวีรชัย และแผ่นป้ายทะเบียนรถไปทิ้งที่แม่น้ำปิงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะก่อเหตุดังกล่าว เพื่อกระทบกระทั่งต่อองค์กรศาล หรือก้าวล่วง หรือดูหมิ่นเหยียดหยามองค์กรศาล แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวด้วยเห็นว่า น.ส.พนิดา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีอาญาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ทำหน้าที่อย่างลำเอียง ขาดความเที่ยงธรรม และมีอคติกับจำเลยที่ 1 ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวโดยตลอด ทำให้เกิดความกดดันและขาดสติยั้งคิด จึงได้กระทำความผิดในคดีนี้”
ศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ รวมทั้งคำแถลงโต้แย้งพยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ยื่นต่อศาล ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ส.ค. 2563 นั้น เปลี่ยนแปลงไป อันส่งผลให้ข้อเท็จจริงตามที่ให้การรับสารภาพนั้นยุติไปบางส่วน และทำให้ความจำเป็นในการสืบพยานหลักฐานตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างไว้เดิมเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จึงให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานหลักฐานตามที่กำหนดไว้เดิม และกำหนดวันนัดสืบพยานหลักฐานใหม่ ในช่วงเดือน ต.ค.นี้