เพจ Anti-Fake News Center Thailand แนะผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีสังเกตและป้องกันการล่วงละเมิดในเด็ก หลังพบว่าในช่วงที่ผ่านมาเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมาก ล่าสุดเด็กชั้นอนุบาลโดนรุ่มพี่ประถม 5 กระทำอนาจารภายในโรงเรียน
จากกรณีหญิงอายุ 23 ปี ชาว อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คำม่วง เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าลูกสาวเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 วัย 5 ขวบ ถูกรุ่นพี่ชั้น ป.5 จำนวน 3 คน รุมกระทำอนาจารภายในโรงเรียน โดย พ.ต.อ.อลงกรณ์ เสนีย์รณฤทธิ์ ผกก.สภ.คำม่วง กล่าวว่า สำหรับคดีนี้เจ้าหน้าที่ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย เบื้องต้นจะเชิญแม่ของเด็กและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำอย่างละเอียดอีกรอบ เพราะเนื่องจากการให้ปากคำของผู้เสียหายยังมีความไม่แน่ชัดอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะวันเวลา และสถานที่ช่วงเกิดเหตุ ทั้งนี้ ผู้เสียหายระบุว่าลูกสาวได้นั่งอยู่สนามเด็กเล่นก่อนจะมีรุ่นพี่มาชักชวนออกไปจากบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (15 ก.ย.) เพจ Anti-Fake News Center Thailand ได้นำความรู้จาก “สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์” เกี่ยวกับวิธีสังเกตและป้องกันการล่วงละเมิดในเด็ก มาบอกกล่าวไว้เป็นความรู้สำหรับผู้ปกครอง เพื่อใช้ในการดูแลและสังเกตพฤติกรรมของลูกหลาน ป้องกันการถูกล่วงละเมิด โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า
“วิธีสังเกตและป้องกันการล่วงละเมิดในเด็ก ปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากกำลังเผชิญกับการถูกทำร้าย การถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่ว่าจะเกิดจากคนแปลกหน้า เพื่อนบ้าน ครู/อาจารย์ พี่น้อง เพื่อน หรือแม้กระทั่งพ่อแม่
การล่วงละเมิดส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กที่ถูกละเมิดเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อไปได้ ทำให้เด็กอับอายและไม่กล้าสู้หน้าใคร และร้ายแรงที่สุดอาจเกิดการตั้งครรภ์ ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ การถูกล่วงละเมิดในเด็กไม่อาจจะสามารถตรวจพบได้ตลอดเวลา แต่มีสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือเด็กได้
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ การพูดคุยกับเด็กอย่างเปิดใจ ตรงไปตรงมา เอาใจใส่ ปลอบโยน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจว่าเขามีสิทธิที่จะปลอดภัยและไม่ใช่ความผิดของเขาหากเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เมื่อเขารู้ว่ามีสิทธิในเรื่องความปลอดภัยก็จะมีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดได้มากขึ้น ในกรณีที่ทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ พ่อแม่ควรปฏิบัติตัวกับเด็กเหมือนเดิมและไม่ควรซักถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวโดยไม่จำเป็นเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกถูกตอกย้ำ การสังเกตอาการด้านร่างกายหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง”