xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก 2 โรคร้าย "ไทรอยด์เป็นพิษ" และ "โรค ALS" อันตรายแค่ไหน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หลังข่าวการเสียชีวิตของ “แม่ทุม ปทุมวดี เค้ามูลคดี” จากโรคไทรอยด์และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ทำใช้ชาวเน็ตตื่นตัวว่า 2 โรคนี้ เกิดจากสาเหตุใด และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร ทั้งนี้ จะพาไปรู้จักกับ 2 โรคร้าย ที่พรากชีวิตอดีตนักแสดงรุ่นใหญ่ หลังรักษาตัวนานกว่า 7 ปี

จากกรณี อินสตาแกรม “ใหม่ สรรเสริญ เค้ามูลคดี” ลูกชาย “แม่ทุม ปทุมวดี เค้ามูลคดี” และ “รอง เค้ามูลคดี” ได้โพสต์ภาพขาวดำคู่แม่ทุม พร้อมข้อความ “นางฟ้าของฉันกลับสู่สรวงสวรรค์แล้ว” ทั้งนี้ แม่ทุม ป่วยเป็นโรคไทรอยด์จนร่างกายผ่ายผอม จากเดิมที่มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน เธอจึงอาศัยโอกาสนี้เข้าทำศัลยกรรมพลาสติก จนหน้าตาผิวพรรณดูอ่อนกว่าวัย ในปี พ.ศ. 2555 ปทุมวดีเริ่มผ่ายผอมจากอาการป่วยด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษอีกครั้ง ทำให้น้ำหนักตัวที่เคยมี 60 กิโลกรัม ลดลงเหลือ 36 กิโลกรัม และมีภาวะจำอะไรไม่ได้ และเป็นโรค ALS 8 ปีที่ผ่านมารักษาตัวในห้องไอซียูด้วยอาการวิกฤตมาโดยตลอดก่อนเสียชีวิตลงในที่สุด สำหรับกำหนดการรดน้ำศพ แม่ทุม ปทุมวดี จัดขึ้นที่ศาลา 2 วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ในวันนี้ (7 ก.ย.) เวลา 16.00 น. โดยจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 7-12 ก.ย. ฌาปนกิจในวันอาทิตย์ที่ 13 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ดร.นพ.จรุงไทย เดชเทวพร อาจารย์ หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษาประสาทสรีรวิทยาคลินิกและห้องตรวจโรคเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า "ALS" ย่อมาจาก Amyotrophic Lateral Sclerosis โรค ALS ไม่ใช่โรคของกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง แล้วส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากขาดเซลล์ประสาทนำคำสั่งมาควบคุม ซึ่งเซลล์เหล่านี้มีอยู่ในไขสันหลังและสมอง โดยที่เซลล์ประสาทนำคำสั่งเหล่านี้ค่อยๆเกิดการเสื่อมและตายไปในที่สุด และเนื่องจาก ALS เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง (motor neuron disease; MND) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม” ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะรู้จักโรคนี้ในนามของโรค ลู-เก-ริก (Lou Gehrig Disease) ซึ่งตั้งชื่อโรคตามชื่อนักเบสบอลที่มีชื่อเสียงที่เป็นโรคนี้ในปี 1930

สาเหตุของโรค ALS


ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดเซลล์ประสาทนำคำสั่งจึงเกิดการเสื่อม โดยสมมติฐานเชื่อว่า ALS เกิดจากหลายเหตุปัจจัยก่อให้เกิดโรคร่วมกัน ได้แก่ การมีปัจจัยบางอย่างทางพันธุกรรมซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดที่ทำให้มีเซลล์ประสาทนำคำสั่งมีโอกาสเสื่อมได้ง่ายกว่าบุคคลอื่น มีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง สาร โลหะหนัก รังสีหรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิดมาช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้เซลล์ประสาทนำคำสั่งเกิดการทำงานผิดปกติ ร่วมกับอายุที่สูงขึ้นตามกาลเวลาทำให้เกิดการเสื่อมสลายของเซลล์ อันเนื่องมาจากแบตเตอรี่ที่คอยสร้างพลังงานให้กับเซลล์ที่เรียกว่า ไมโตคอนเดรีย (mitochondria) มีความผิดปกติ แต่สมมติฐานเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์แน่ชัด

ข้อมูลในประเทศสหราชอาณาจักรพบประชากรทุกๆ100,000 คนเป็นโรค ALS ประมาณ 2 คนต่อปี อายุเฉลี่ยที่เกิดขึ้นของโรคอยู่ระหว่าง 60-65 ปี ดังนั้นโอกาสที่จะพบโรค ALS ในคนอายุมากจึงมีมากกว่าในคนอายุน้อย โดยทั่วไปแล้วมักพบโรค ALS ได้บ่อยประมาณ 1.5 เท่าของเพศหญิง และประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วย ALS จะไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่แน่ชัดทางพันธุกรรม ดังนั้น ผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวที่ชัดเจน จึงมีโอกาสเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดโรคในรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจนว่านักกีฬามีโอกาสเสียงต่อการเกิดโรคนี้ได้มากกว่าอาชีพอื่นๆ

อาการและการดำเนินของโรค ALS เป็นอย่างไร

เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของมือ แขนขาหรือ เท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน เช่น ยกแขนไม่ขึ้นเหนือศีรษะ กำมือถือของไม่ได้ ข้อมือหรือข้อเท้าตก เดินแล้วหกล้มบ่อยหรือสะดุดบ่อย ขึ้นบันไดลำบาก นั่งยองๆลุกขึ้นลำบาก เป็นต้น อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอ่อนแรงจะค่อยๆเป็นมากขึ้นจนลามไปทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของแขนหรือขาทั้ง 2 ข้างตั้งแต่ต้น นอกจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้วยังพบว่ามีกล้ามเนื้อลีบร่วมกับกล้ามเนื้อเต้นที่เรียกว่า fasciculation ร่วมด้วย

ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ครั้งแรกด้วยมือลีบหรือขาลีบ พูดไม่ชัด พูดเหมือนลิ้นแข็ง หรอลิ้นลีบ เวลากลืนน้ำหรืออาหารแล้วจะสำลัก ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ครั้งแรกด้วยกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง ทำให้เหนื่อยง่ายโดยเฉพาะเวลานอนราบหรือมีอาการต้องตื่นกลางดึกเพราะมีอาการเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม เนื่องจากอาการของโรค ALS คล้ายกับโรคอื่น ทำให้ผู้ป่วย ALS ในช่วงต้นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่น เช่น มีผู้ป่วยบางรายที่มาด้วยมือลีบอาจได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นพังผืดรัดเส้นประสาทที่ข้อมือ (carpal tunnel syndrome) และได้รับการผ่าตัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น

ผู้ป่วยบางรายที่มาด้วยแขนหรือขาอ่อนแรงอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่คอหรือที่หลัง และได้รับการผ่าตัดไปแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้น แล้วได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ALS ในภายหลัง โดยทั่วไปเมื่ออาการของโรค ALS เป็นมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อของแขนขาอ่อนแรงและลีบที่แย่ลงร่วมกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด การกลืนอ่อนแรง จนต้องใช้ท่อให้อาหารทางสายยางผ่านทางจมูกหรือทางหน้าท้อง และกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรงอ่อนแรงจนกระทั่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรค ALS ให้หายขาดได้ ร้อยละ 50 ของผู้ป่วย ALS โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตหลังจากมีอาการในระยะเวลาประมาณ 2.5 ปี สาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากระบบหายใจล้มเหลวและการติดเชื้อในปอดอันเนื่องมาจากการสำลัก

ปัจจุบันมียาที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ผู้รักษา ALS ทั่วโลกว่าช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้เพียงตัวเดียวคือ ยา Riluzole (Rilutek®) โดยยามีฤทธิ์ในการยับยั้งสาร glutamate ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งซึ่งถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เกิดการตายของเซล อย่างไรก็ตามยาตัวนี้มีราคาแพงมาก ไม่สามารถเบิกจ่ายในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ และไม่มีในทุกโรงพยาบาลแม้แต่ที่ห้องยาของโรงพยาบาลรามาธิบดีเองก็ไม่ได้นำยาตัวนี้เข้ามาไว้ในโรงพยาบาล ในอนาคตถ้าองค์การเภสัชกรรมบริษัทผลิตยาในประเทสามารถผลิตยานี้เองได้ในราคาที่ถูกลง ก็จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการวิจัยที่แสดงถึงประโยชน์ ในการรักษาโรค ALS ด้วยยากลุ่มอื่นๆรวมทั้งการใช้ stem cell

นอกเหนือจากการใช้ยาแล้วการรักษาแบบประคับประคองมีความสำคัญมากเพื่อผลดีต่อสุขภาพในภาพรวม เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การทำกิจกรรมและการทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแรงเพื่อป้องกันการลีบที่เกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานนานๆและป้องการการติดของข้อ การรับประทานอาหารให้เพียงพอ ในกรณีที่มีอาการสำลักทำให้ได้รับอาหารไม่เพียงพอ การให้อาหารทางสายยางทางหน้าท้องที่เรียกว่าสาย PEG หรือการให้อาหารทางสายผ่านจมูก (NG tube) ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารได้เพียงพอและป้องกันการสำลักอาหาร การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผู้ป่วยมีปัญหานอนราบไม่ได้หรือเหนื่อยเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง การใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (non-invasive positive pressure ventilation; NIPPV) ที่บ้าน ก็จะทำให้ผู้ป่วยนอนได้ไม่เหนื่อย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับ "ไทรอยด์เป็นพิษ" อ.พญ.สิรินาถ สิรินทร์วราวงศ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวไว้ว่า

ไทรอยด์เป็นพิษสาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาร่างกายของเราเองที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย เมื่อฮอร์โมนไทรอยด์มีมากเกินความจำเป็นก็จะส่งผลให้มีอาการในอวัยวะต่าง ๆได้หลาย ๆ อย่าง เราเรียกภาวะที่ต่อมไทรอย์ทำงานมากผิดปกตินี้ว่าไทรอยด์เป็นพิษ

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ จะมีอาการได้หลากหลาย เช่น ใจสั่น มือสั่น ทำกิจกรรมก็จะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ น้ำหนักลดได้ในเพศหญิงบางคนอาจประจำเดือนมาผิดปกติบางรายอาจมีถ่ายเหลวคล้าย ท้องเสียถ่ายวันละหลาย ๆ ครั้ง อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย บางรายอาจสังเกตได้ว่ามีคอโต ตาโปนได้ บางรายที่เป็นนาน ๆ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือว่าภาวะกระดูกบางที่เกิดจากแคลเซียมในเลือดที่สูงกว่าปกติทำให้กระดูกอ่อนแอ กลายเป็นโรคกระดูกพรุน

ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากร่างกายของเราเอง ดังนั้นไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอยู่แล้ว ปกติแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาใหม่และยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่มีอยู่แล้ว ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอไม่ปรับยาเอง เมื่ออาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้วก็ไม่ควรหยุดยาเองให้ปรึกษาแพทย์ เมื่ออาการดีขึ้น ผลเลือดดีขึ้น แพทย์จึงจะค่อย ๆ ลดยาลง ในบางรายอาจหยุดยาได้ในที่สุด

ส่วนการรักษาอื่น ๆ ถ้าในกรณีที่รักษาด้วยการรับประทานยาแล้วได้ผล อาจจะให้การรักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน หรือการผ่าตัด อย่างไรก็ตามแพทย์ก็จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับกับผู้ป่วยแต่ละรายดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้


กำลังโหลดความคิดเห็น