xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” หวังเจรจา “คิงส์เกต” จบข้อพิพาทปิดเหมืองทองก่อนอนุญาโตฯ ตัดสิน สะพัดเตรียมร่วมทุนคนไทยขอเปิดอีก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทีมเร่งเจรจา “คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด” ยุติข้อพิพาทกรณีปิดเหมืองทองอัคราฯ “สุริยะ” คาดหวังให้จบก่อนอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินคดี เผย มีสัญญาณจะขอกลับมาขุดทองใหม่โดยอาจร่วมทุนกับคนไทย หรือลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งหากทำตามเงื่อนไข พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ก็สามารถเปิดได้ทันที

วันนี้ (31 ส.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ เมืองทองอัครา ยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ต้องหยุดการประกอบกิจการตั้งแต่ต้นปี 2560 ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนของคณะอนุญาโตตุลาการ กระทรวงอุตสาหกรรมคาดหวังจะใช้แนวทางเจรจาหาข้อยุติก่อนศาลอนุญาโตตุลาการจะมีคำตัดสินออกมา โดยกำชับให้คณะทำงานเจรจาทำทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบที่สุด

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการไต่สวนของคณะอนุญาโตตุลาการ ยืนยันว่าคณะทำงานเจรจา ประกอบด้วยหลายฝ่าย อาทิ ทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ทีมทนายความ และผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างชาติกว่า 20 คน ทำทุกอย่างเต็มที่ ด้วยความรอบคอบ รัดกุม คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และประชาชน

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า กรณีงบประมาณรายจ่ายปี 2564 มีบางส่วนระบุเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย จำนวนประมาณ 111 ล้านบาทนั้น เป็นงบประมาณที่ต้องใช้ดำเนินงานในการเข้าสู่กระบวนอนุญาโตตุลาการ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขออนุมัติดำเนินงานไว้

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ขณะนี้มีสัญญาณว่าผู้บริหารเหมืองทองอัคราฯ สนใจกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นรูปแบบการลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการคนไทย หรือลงทุนเองต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว หากผู้ประกอบการเหมืองแร่ ไม่ว่ารายใดก็ตามสนใจเข้ามาลงทุน ก็สามารถยื่นขอประกอบกิจการเหมืองแร่ ได้ ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ฉบับใหม่ ที่มีข้อบัญญัติเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น ถ้าเข้าเงื่อนไขการได้รับอนุญาตก็สามารถประกอบกิจการต่อได้


กำลังโหลดความคิดเห็น