xs
xsm
sm
md
lg

MEA จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน รวมพลังปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติฯ ฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง คณะผู้บริหารฐานทัพเรือกรุงเทพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และพนักงาน MEA รวมประมาณ 200 คน ร่วมจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ประจำปี 2563 ซึ่งจัดต่อเนื่องมาทุกปี ณ ป่าชายเลน ป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และเพื่อน้อมถวายพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากการปลูกป่าชายเลน เพื่อเสริมสร้างพื้นที่ป่าชายเลนในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์แล้ว MEA ยังได้เปิดนิทรรศการ สวนหย่อม ”ชีวิตในป่าชายเลน” จัดแสดงสิ่งมีชีวิต ที่พบเห็นได้ทั่วไปในระบบนิเวศน์ป่าชายเลนพร้อมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจ ได้เข้ามาศึกษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลนในเมืองไทย ซึ่งจะช่วยเสริมความรู้ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวหรือนักเรียน นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาทำรายงาน จะได้มีความเข้าใจและเห็นแบบจำลองสัตว์นานาชนิดอีกด้วย


นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย คณะผู้บริหารและพนักงาน ได้เดินทางไปมอบทุนการศึกษา ให้กับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และครอบครัวประสบปัญหาหรือมีความเปราะบาง รวมจำนวน 24 ทุน ให้กับโรงเรียนป้อมพระจุลจอมเกล้า และโรงเรียนวัดสาขลา รวมทั้งพนักงาน MEA ยังได้เข้าไปปรับปรุง ซ่อมแซม และเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าที่ชำรุดในห้องประชุมอเนกประสงค์ และจุดเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กทั้งในโรงเรียนอีกด้วย
สำหรับการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ป้อมพระจุลนั้น ก่อนหน้านี้ MEA ได้น้อมนำแนวโครงการพระราชดำริฯ การปลูกหญ้าแฝก แก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดินโดยวิธีธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ โดยร่วมกับป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ ดำเนินการปลูกป่าชายเลน จำนวน 200 ไร่ เพื่อลดปัญหาการพังทลายของหน้าดิน แต่ปรากฏว่า ต้นกล้าป่าชายเลนที่ปลูกใหม่บริเวณริมน้ำนั้น เสียหายเนื่องจากความแรงของคลื่นและดินตะกอนที่ถูกพัดพาออกไป MEA จึงได้ศึกษาและออกแบบการสร้างเขื่อนตะกอน โดยใช้วัสดุ อุปกรณ์เหลือใช้ ได้แก่ เสาไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน จากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้มีเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนจำนวนหนึ่ง นำมาปักเป็นแนวกันคลื่นแบบสลับฟันปลา มีระยะห่างระหว่างแนวเสา 1.5 เมตร สวมครอบด้วยยางรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดักตะกอนและลดแรงปะทะของคลื่น รวมระยะทาง ประมาณ 2,400 เมตร

จากผลการวิจัยของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2554 และปี 2558 เพื่อศึกษาประสิทธิผลการทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของ MEA บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ทั้ง 2 ครั้ง สรุปผลได้ว่า แนวเขื่อนดักตะกอน สามารถลดแรงปะทะของคลื่นและดักตะกอนได้จริง ส่งผลให้ป่าชายเลนบริเวณด้านหลังแนวเขื่อนสามารถเติบโตได้โดยธรรมชาติ และไม่พบว่าแนวเสาไฟฟ้าสวมห่วงยางรถยนต์นั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Energy for city life, Energize smart living


















กำลังโหลดความคิดเห็น