xs
xsm
sm
md
lg

นักดำน้ำ! พบลอบยักษ์วางทับปะการังอ่อนที่หินแปดไมล์สตูล ดร.ธรณ์ ชี้สร้างความเสียหาย-ผิด กม.ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักดำน้ำโพสต์ภาพขณะดำน้ำบริเวณที่หินแปดไมล์ จังหวัดสตูล พบมีการนำลอบยักษ์ทับปะการังหรือปะการังอ่อน ล่าสุด ดร.ธรณ์ ชี้ทำแบบนี้สร้างความเสียหายให้สัตว์คุ้มครองได้ซึ่งมีกฎหมายระบุอยู่ ล่าสุดได้ส่งเรื่องให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ตรวจสอบแล้ว

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. เฟซบุ๊ก “Guntaphat Pokasasipun” ได้ออกมาโพสต์ขอความระบุว่า “ได้พบลอบยักษ์ที่หินแปดไมล์ อยู่ในบริเวณของจังหวัดสตูล โดยได้แต่มองดู แต่ไม่กล้าไปยุ่งอะไร กรมประมง กรมทรัพย์ น่าจะเข้ามาดูหน่อยนะครับ”

ล่าสุด วันนี้ (19 ส.ค.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวระบุเนื้อหาว่า “เพื่อนๆ นักดำน้ำลงไปเจอลอบยักษ์ทับปะการังหรือปะการังอ่อนที่หินแปดไมล์ จังหวัดสตูล แม้พื้นที่นี้ไม่ได้อยู่ในอุทยาน แต่ปะการังปะการังอ่อนเป็นสัตว์คุ้มครอง โดยการวางลอบเช่นนี้สร้างความเสียหายให้สัตว์คุ้มครอง มีกฎหมายระบุในเรื่องนี้ ผมจึงขอรายงานมาเพื่อขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการครับ

ทั้งนี้ หินแปดไมล์ยังเป็นจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียง กองหินใต้น้ำมีปะการัง ปะการังอ่อน และกัลปังหาเป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดดำน้ำสวยที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดสตูล และอยู่ทางใต้มากสุดของไทย บริเวณนี้พบฉลามวาฬเป็นประจำ เมื่อไม่กี่วันก่อนก็พบพร้อมกันหลายตัว ฉลามวาฬเป็นสัตว์สงวน เข้ามาหากินแถวนี้เพราะกองหินมีความอุดมสมบูรณ์สูง

นอกจากนี้ ยังเป็นจุดที่พบกระเบนปีศาจได้บ่อยที่สุดของไทย กระเบนชนิดนี้คล้ายแมนต้า แต่ตัวเล็กกว่าและชอบมาเป็นฝูง ในอนาคต อาจหาหนทางในการประกาศหินแปดไมล์ให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล แต่ในตอนนี้ก็ต้องดูแลตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ขอบคุณผู้แจ้ง และขอบคุณกรมทะเลล่วงหน้าครับ”

โดย “ลอบ” คือเครื่องมือประมงที่ใช้ดักจับสัตว์น้ำมีลักษณะเป็นโครงรูปทรงต่างๆ ใช้วัสดุหุ้มโดยรอบและมีส่วนที่เรียกว่างาเป็นช่องให้สัตว์น้ำเข้าภายในเป็นเครื่องมือที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้หวายเถาวัลย์ หรือลวดรัดโครงไม้ ลอบมีช่องว่างให้ปลาว่ายเข้าไปติดอยู่ภายใน















กำลังโหลดความคิดเห็น