xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ” ห่วงภาวะหลังการติดเชื้อ เหตุพบผู้ป่วยที่หายแล้ว 30% ยังมีอาการหลงเหลืออยู่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เผยความกังวลจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่าสภาวะหลังการติดเชื้อก็มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มีอาการของเชื้อหลงเหลืออยู่ อาจส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย สมองตื้องุนงง เหนื่อยเปลี้ย ไม่มีแรงทำงานตามปกติ แม้แต่อาการไอ หรืออาจยังมีปัญหาการดมกลิ่นและรับรส เป็นต้น

วันนี้ (14 ส.ค.) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นคือ “ภาวะหลังการติดเชื้อ” โดยได้ระบุระความว่า

“สิ่งที่ทำให้คนเริ่มกังวลกันมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากจำนวนการติดเชื้อ จำนวนการตายที่มากมายก่ายกองเช่นนี้แล้ว ยังมีเรื่องภาวะหลังการติดเชื้อครับ อย่างที่เคยบอกไปว่า สมัยมีการระบาดช่วงแรกๆ หมอๆ ต่างดีใจที่ผู้ป่วยโรค COVID-19 ได้รับการดูแลรักษา และออกจากโรงพยาบาลได้ โดยตรวจ RT-PCR ซ้ำแล้วได้ผลลบ คิดว่าหาย

แต่ความรู้ในปัจจุบัน มีความชัดเจนแล้วว่า ไม่จบแค่นั้น

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโรค COVID-19 นั้น แม้จะได้รับการดูแลรักษาจนตรวจได้ผลลบแล้ว ยังมีจำนวนกว่า 30% ที่จะมีอาการหลงเหลืออยู่กับตัวไปเรื่อยๆ นานหลายสัปดาห์จนเป็นเดือนๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย สมองตื้องุนงง เหนื่อยเปลี้ย ไม่มีแรงทำงานตามปกติ แม้แต่อาการไอ หรืออาจยังมีปัญหาการดมกลิ่นและรับรส เป็นต้น

ภาวะนี้เรียกว่า “Long COVID” หรือ “Chronic COVID” หรือ “COVID Long Haulers” หรือ “Chronic fatique syndrome” หรือ “Myalgic encephalomyelitis”

ล่าสุดก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เกิดการสร้างระบบติดตามและเฝ้าระวังภาวะนี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วด้วย เพราะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตทั้งส่วนตัว ครอบครัว และการทำงาน...คิดคร่าวๆ ตอนนี้อาจมีคนที่ต้องทนทุกข์กับภาวะนี้หลายล้านคนทั่วโลก ดังนั้น คงจะดีที่สุดหากเราป้องกันตัว และป้องกันสมาชิกในครอบครัว ไม่ให้ติดเชื้อไวรัสนี้ ความเสี่ยงในเมืองไทยมีมากขึ้นดังที่เราทุกคนทราบดี การใส่หน้ากากจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ถึง 85% การอยู่ห่างคนอื่นอย่างน้อยหนึ่งเมตรจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโดยเฉลี่ยได้ถึง 80%

หากทำร่วมกับการล้างมือบ่อยๆ พูดน้อยๆ พบคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร ก็จะทำให้เรามีโอกาสไปรับเชื้อติดเชื้อได้น้อยลงมาก ถ้าทำกันอย่างพร้อมเพรียง สม่ำเสมอ ไทยเราก็จะไม่ระบาดซ้ำ เปรียบเหมือนวัคซีนป้องกันที่เราแต่ละคนสามารถทำได้เอง หมั่นสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากมีอาการไม่สบาย ควรหยุดงาน หยุดเรียน แล้วไปตรวจนะครับ ประเทศไทยต้องทำได้ ด้วยรักต่อทุกคน”

กำลังโหลดความคิดเห็น