“ดร.เสรี ศุภราทิตย์” เผย โควิด-19 ทำสิ่งแวดล้อมดีขึ้นแค่ชั่วคราว หลังคลายล็อกดาวน์ ที่ผ่านมาก็ไร้ประโยชน์ เพราะก๊าซเรือนกระจกพุ่งสูงเท่าเดิม ชี้ ไทยได้รับผลกระทบ จะเจอทั้งน้ำท่วม-แล้งหนัก อากาศร้อนจัดมากขึ้น
วันที่ 12 ส.ค. 63 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “New Normal ไม่ช่วยให้อากาศดีขึ้น?”
โดย รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า มีข้อมูลว่าหลังจากเกิดโควิด-19 เดือนเมษายน มนุษย์ลดกิจกรรมต่างๆ ลง จากการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศ ลดลง 19 เปอร์เซ็นต์ แตะในระดับเท่าปี 2016 เป็นที่ดีใจมากของหลายคนที่ทำงานในสหประชาชาติ
แต่แค่สัปดาห์เดียวหลังคลายล็อกดาวน์ มันกลับพุ่งขึ้นไป จนประเมินว่าปีนี้ก๊าซเรือนกระจกจะลดลงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าโลกกลับไปเหมือนเดิม เราต้องการลด 8 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ถึงจะบรรลุเป้าหมาย ไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา ใน 50 ปีข้างหน้า พอลดได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับไม่ได้ทำอะไรเลย
รศ.ดร.เสรี กล่าวอีกว่า สื่อให้เห็นว่า ถ้าโลกเดินแบบนี้ต่อไป อนาคตประเทศไทยจะเจอทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง อย่าง 3 เดือนนี้ ฝนจะตกหนัก แล้วถ้าไม่ตกเข้าอ่าง ภัยแล้งจะหนัก เราก็หวังว่าฝนต้องตกเหนือเขื่อน แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด
ส่วนความหนาวก็จะลดลงเรื่อยๆ เพราะอุณหภูมิโลกสูงขึ้น ที่ร้อนจัดก็จะร้อนยิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ สภาพแวดล้อม พืชพันธุ์ธัญญาหาร จะเปลี่ยนแปลงทันที ได้ผลผลิตน้อยได้ลง