xs
xsm
sm
md
lg

"ดีเอสไอ" ย้ำมีพยานผู้เชี่ยวชาญยืนยันการตาย "บิลลี่" แย้งอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีฆาตกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสอบสวนคดีพิเศษ ย้ำมีพยานผู้เชี่ยวชาญยืนยันการตายของ “บิลลี่” ทำความเห็นแย้งส่งอัยการสูงสุด หลัง “อัยการ” สั่งไม่ฟ้องคดีฆาตกรรม

รายงานพิเศษ

ผ่านไปนานกว่า 6 เดือน หลังจากที่ “อัยการคดีพิเศษ” มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานรวม 4 คน ในคดีการหายตัวไปของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ จนในวันนี้ (11 ส.ค. 2563) พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ส่งเอกสารแจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ดีเอสไอได้ส่งหนังสือแสดงความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการไปยังอัยการสูงสุดแล้ว มาดูกันว่า ในความเห็นแย้งของดีเอสไอ มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง


ในเอกสารที่อัยการคดีพิเศษ “สั่งไม่ฟ้อง” ในคดีฆาตกรรมบิลลี่ มีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง คือ วิธีการตรวจหารสารพันธุกรรม ที่เรียกว่า ไมโทรคอนเดรีย ดีเอ็นเอ (Mitochondria DNA) ผ่านชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ จึงยืนยันไม่ได้ว่า บิลลี่เสียชีวิตแล้วจริง มีเนื้อหาคือ

พนักงานอัยการเห็นว่า "วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมในไมโทคอนเดรีย เป็นเพียงวิธีการตรวจหาพันธุกรรมของบุคคลในสกุลเดียวกันจากพันธุ์กรรมฝ่ายมารดา (หญิง) ในสกุล โดยวิธีนี้บอกได้เพียงว่าบุคคลที่ต้องการตรวจหาฟันธุกรรุมนั้นสืบสกุลมาจากหญิงในสกุลใดเท่านั้น โดยวิธีการนี้บอกได้ว่าบุคคลที่ต้องการตรวจหาพันธุกรรมนั้นสืบสกุลมาจากหญิงในสกุลนั้นๆ ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ, ยายของยายจนมาถึงเหลน โดยในคดีนี้กระดูกชิ้นส่วนมนุษย์ในคดีนี้ยืนยันได้เพียงว่ากระดูกชิ้นส่วนมนุษย์มีสารพันธุกรรมเดียวกันกับมารดาและยายของนายพอละจีเท่านั้น ไม่มีพยานบุคคลใดยืนยันได้ถึงแม่ของยายและยายของยายที่เลยไปกว่าชั้นมารดาของนายพอละจี ได้เลย ว่ามีการสืบสายโลหิตแบ่งออกไปกี่สายและมีบุคคลใดในแต่ละสายบ้างที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว วิธีการนี้จึงยืนยันได้เพียงว่าชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่พบเป็นบุคคลที่สืบสายมาจากหญิงในสกุลเดียวกันเท่านั้นแต่ไม่อาจยืนยันได้ว่ากระดูกมนษุย์ดังกล่าวเป็นใคร จะใช่นายพอละจี หรือไม่ หรือเป็นบุคคลในสกุลเดียวกันที่สืบสายมาจากหญิงในสกุลเดียวกันเท่านั้น จึงไม่อาจยืนยันว่านายพอละจี ถึงแก่ความตายไปแล้ว"


นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ ดีเอสไอ ในฐานะพนักงานสอบสวนโต้แย้งความเห็นของอัยการ โดยยืนยันถึงข้อสรุปว่า “บิลลี่” เสียชีวิตแล้ว เป็นข้อสรุปที่ผ่านการยืนยันของ “พยานผู้เชี่ยวชาญ” ที่น่าเชื่อถือ คือ นายแพทย์วรวีร์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจหาสารพันธุกรรมจากชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ มีพบใต้สะพานแขวนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้วยวิธี “ไมโทรคอนเดรีย ดีเอ็นเอ” และยืนยันว่าเป็นวิธีการตรวจหาสาพันธุกรรมจากสายทางมารดาที่ได้รับการยอมรับ จึงยืนยันได้ว่า เป็นชิ้นส่วนกะโหลกของบิลลี่ ซึ่งถือได้ว่า “บิลลี่” เสียชีวิตแล้ว เพราะชิ้นส่วนนี้หากหลุดออกไปจากร่างกายมนุษย์คนใด จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

ในหนังสือแสดงความเห็นแย้งของ ดีเอสไอ ยังโต้แย้งด้วยว่า ความเห็นของอัยการเป็นความเห็นที่ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญประกอบการพิจารณาเลย

ประเด็นต่อมา คือ ประเด็นที่อัยการไม่ให้น้ำหนักกับ “พยานสำคัญ คือ นักศึกษาฝึกงาน 2 คน” โดยอัยการระบุว่า ทั้ง 2 คน ให้การกลับไปกลับมาไม่น่าเชื่อถือ โดยพยานทั้ง 2 คนนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานที่อยู่ในเหตุการณ์ช่วงที่เจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวบิลลี่ไว้ที่ด่านตรวจเขามะเร็วในวันที่ 17 เมษายน 2557 ก่อนที่บิลลี่จะถูกควบคุมตัวขึ้นรถไปกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน และพยานทั้ง 2 คน นั่งรถอีกหนึ่งคันตามหลังไปในเวลาที่ห่างกันประมาณ 3 นาที ก่อนจะให้การในครั้งแรกว่า เห็นบิลลี่ ที่ถูกปล่อยตัวแล้ว กำลังขับรถจักรยานยนต์อยู่ แต่ต่อมากลับคำให้การเป็น “ไม่เห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัว”


ประเด็นนี้ ดีเอสไอ โต้แย้งโดยอ้างอิงเหตุการณ์ที่พยานบอกว่า “พบเห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัวไปแล้ว” ในการให้การกับพนักงานสอบสวนครั้งแรก เป็นเพราะพยานยังอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ถูกกล่าวหา เพราะเป็นนักศึกษาฝึกงานของทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่ในการให้การกลับพนักงานสอบสวนครั้งที่ 2 พยานถูกกันตัวออกเป็นอิสระ จึงได้ให้การใหม่ว่า “ไม่เคยเห็นบิลลี่ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานปล่อยตัวแล้ว” ดีเอสไอ จึงยืนยันว่า การให้การครั้งหลังมีน้ำหนักยน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะพยานเป็นอิสระ

ในเอกสารที่ยื่นต่ออัยการสูงสุด ดีเอสไอ ยังแสดงความเห็นต่อคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการในประเด็นที่อัยการ ให้น้ำหนักและเชื่อถือคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน มากกว่าคำให้การของนักศึกษาที่เป็นพยานสำคัญ พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ถูกกล่าวหาจึงถูกให้น้ำหนักมากกว่าพยาน

เอกสารนี้ ยังได้แสดงให้อัยการสูงสุดเห็นถึงมูลเหตุจูงใจว่าทำไมผู้ถูกกล่าวหาจึงอาจเป็นผู้ฆ่าบิลลี่ โดยระบุถึงความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยตั้งแต่ปี 2554 ทั้งการเข้าไปขับไล่ เผาบ้าน การออกมาต่อสู้ของปู่คออี้ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงวัยมากกว่าร้อยปี จนถึงการถูกยิงเสียชีวิตของนายทัศน์กมล โอบอ้อม ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกขับไล่ จนทำให้ “บิลลี่” กลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ทางกฎหมายกับทางอุทยานฯ ก่อนจะหายตัวไป


โดยสรุปคือ ดีเอสไอ ส่งหนังสือแสดงความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการคดีพิเศษ ไปยังอัยการสูงสุดในทุกประเด็น พร้อมทั้งยืนยันว่า ดีเอสไอ มีความเห็นตามเดิม คือควรสั่งฟ้องทุกข้อหาที่ ดีเอสไอ ไป ประกอบด้วย

- ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแก่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้

- ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย

- เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเอง

- เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

- ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น